ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะลึกปัญหา รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ขาดแคลนยา

สังคม
6 ส.ค. 62
16:45
743
Logo Thai PBS
เจาะลึกปัญหา รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ขาดแคลนยา
กลายเป็นประเด็นร้อนกระทบกระทรวงสาธารณสุขทันที เมื่อมีการชุมนุมของผู้ป่วยใน จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องแก้ปัญหาโรงพยาบาลกมลาไสยขาดแคลนยา ผู้ป่วยอ้างว่าโรงพยาบาลจ่ายยาโรคเรื้อรังที่ต้องกินต่อเนื่องไม่ครบทุกตัว

ผู้ป่วยร้องโรงพยาบาลขาดแคลนยา จ่ายยาไม่ครบ

การชุมนุมยังมุ่งให้มีการย้าย นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกนอกพื้นที่ อ้างว่า นพ.ประวิตร ไม่ดำเนินการอนุมัติให้โรงพยาบาลกมลาไสยจัดซื้อยา ทำให้ไม่มียาจ่ายให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวานและความดัน บางคนขาดยาทำให้อาการทรุดหนัก

ค่ำวันเดียวกัน นพ.ประวิตร เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอส ว่า ไม่มีการสั่งห้ามโรงพยาบาลซื้อยา เพราะอำนาจการจัดซื้อยาเป็นของโรงพยาบาล ซึ่งมีรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลดูแลอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์

ต้นปี 2561 โรงพยาบาลกมลาไสย ถูกตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ หลังผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น แจ้งความดำเนินคดีอดีตลูกจ้างฝ่ายการเงิน ฐานยักยอกเงินจัดซื้อยาของโรงพยาบาล รวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท ก่อนที่ ปปท.เขต 4 จะเข้าตรวจสอบการทุจริตว่ามีการทำเป็นขบวนการหรือไม่ ต่อมามีรายงานข่าวว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสยคนนี้ได้ยื่นใบลาออก

เรื่องนี้กระทบผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก

1 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังตกเป็นข่าวเพียง 1 วัน มีคำชี้แจงจาก นพ.อิทธิพล สูงเเข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 และ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชรเวลา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 ต่อกรณีผู้ป่วยร้องเรียนโรงพยาบาลกมลาไสยขาดแคลนยา

นพ.อิทธิพล ชี้แจงว่า จากการสอบถามผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสยและ นพ.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ยาในกลุ่มโรคเรื้อรังเพียงพอ แต่การจ่ายยาให้กับผู้ป่วยจะประเมินตามอาการของแต่ละคนว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีมากน้อยแค่ไหน และจะจ่ายยาในระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วย

ดังนั้นมองว่าการขาดยาไม่น่าจะเป็นไปได้ หากโรงพยาบาลประสบภาวะจากสภาพคล่อง ก็ยังมีโรงพยาบาลแม่ข่ายช่วยเหลืออยู่แล้ว จึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เพราะเรื่องนี้กระทบต่อผู้บริหาร และกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก

นพ.อิทธิพล ระบุว่า ก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลกมลาไสยเคยได้รับการร้องเรียนเรื่องปัญหาขาดยา ตั้งแต่เดือน ก.พ.2561 และได้มีการสืบข้อเท็จจริงจนได้ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีการสั่งซื้อยา รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผิดปกติมากถึง 10 ล้านบาท ซึ่งได้ย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสยคนเดิม มาประจำที่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 แล้ว

และได้ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยางตลาด ควบตำแหน่งบริหารงานที่โรงพยาบาลกลมาไสย ระหว่างดำเนินการสืบข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับทราบแล้ว และมอบหมายให้ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลรับผิดชอบ

ก่อนขาดแคลนยาถูกตรวจสอบจัดซื้อยา

ต้นปี 2561 นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย ในขณะนั้น เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับอดีตลูกจ้างของโรงพยาบาล กรณียักยอกเงินโรงพยาบาล รวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท โดยนำเอกสารใบเสร็จรับเงินและการเบิกจ่ายยาของโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2557-2560 ส่งมอบให้ตำรวจเป็นหลักฐาน

นพ.สุพัฒน์ ระบุว่า พบความผิดปกติการจัดทำบัญชีเงินซื้อยาของผู้ป่วยช่วงเดือน พ.ย.2560 โดยมีการปลอมแปลงตัวเลขใบเสร็จรับเงินที่โรงพยาบาลได้รับในแต่ละวัน ก่อนจะมีการตรวจสอบย้อนหลัง จึงพบว่ามีการยักยอกทรัพย์โรงพยาบาลมานานกว่า 3 ปี

จึงได้ทำรายงานถึงสำนักงานสาธารสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท.เขต 4 เข้าตรวจสอบการทุจริตว่ามีการทำเป็นขบวนการ หรือมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนอื่นเกี่ยวข้องหรือไม่

หลังถูกดำเนินคดี ลูกจ้างคนนี้ก็ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลอีก ส่วน นพ.สุพัฒน์ มีรายงานข่าวว่าได้ยื่นใบลาออก แต่ล่าสุด นพ.อิทธิพล สูงเเข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ออกมาระบุว่า นพ.สุพัฒน์ ถูกย้ายมาประจำที่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 7

แต่เรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ ต่อมาปลายปี 2561 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในกระทรวงสาธารณสุข เข้าตรวจสอบการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลกมลาไสย หลังพบการจัดซื้อที่อาจผิดระเบียบ

เป็นช่วงเดียวกันกับที่ นพ.วรวิทย์ เจริญพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยางตลาด ถูกแต่งตั้งให้มาดำรงค์ตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย ซึ่งได้สั่งหยุดการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อปรับระบบการจัดซื้อให้ถูกต้องตามระเบียบ

 

แต่ นพ.วรวิทย์ พบว่าเอกสารการจัดซื้อกว่า 100 ฉบับ ถูกอายัดไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ รอการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถนำเอกสารไปจ่ายหนี้ หรือ เคลียร์บิล กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายยาได้ ซึ่งระบบการซื้อขายยา หากค้างจ่ายค่ายาตัวใด บริษัทก็จะไม่ขายยาตัวนั้นให้

ทางออกในระยะยาว จึงต้องเร่งตรวจสอบเอกสารที่ถูกอายัด เพื่อให้โรงพยาบาลนำกลับมาดำเนินการจ่ายค่ายา และสั่งซื้อยาตามปกติ 

ทำไมต้องร้องเรียนให้ย้ายนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์

ทำไมกลุ่มผู้ป่วยที่ชุมนุมร้องเรียนกรณีโรงพยาบาลกมลาไสยขาดแคลนยา จึงมุ่งขับไล่ นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และมีคำถามว่า มีใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ ทำไมจึงพุ่งเป้าไปที่ นพ.ประวิตร

ทีมข่าวไทยพีบีเอส สอบถามประเด็นนี้กับแพทย์คนหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลกมลาไสย ให้ข้อมูลว่า แม้ นพ.ประวิตร จะไม่ได้สั่งให้ระงับการจัดซื้อยา แต่ประเด็นการอายัดเอกสารการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลกมลาไสย กว่า 100 ฉบับ ไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อรอการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผ่านมานานเกือบ 1 ปี แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ สะท้อนการดำเนินการที่ล่าช้าและกระทบต่อการจัดซื้อยาของโรงพยาบาล

กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและบุคคลกรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า พวกเขาตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นการตั้งกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่อาจไม่ถูกต้องตามระเบียบ เป็นการดำเนินการที่ล่าช้า เพราะหากทำได้เร็วก็จะแก้ปัญหาการจัดซื้อยาได้เร็วเช่นกัน

แต่ประเด็นสำคัญคือ การตรวจสอบเอกสาร เป็นการพิสูจน์ว่าการจัดซื้อที่ผ่านมาของโรงพยาบาลกมลาไสยผิดระเบียบ หรือเข้าข่ายทุจริตหรือไม่

ซึ่งหากผิดระเบียบ การตรวจสอบเอกสารที่ถูกอายัดไว้จะทำให้ทราบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้อง

สรุป รพ.กมลาไสย ขาดแคลนยาจริงหรือไม่

นพ.วรวิทย์ เจริญพร รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย ยืนยันว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลขาดยากลุ่มโรคเรื้อรังจริง แต่ได้ยืมจากโรงพยาบาลใกล้เคียง และโรงพยาบาลแม่ข่ายมาจัดให้ผู้ป่วย ไม่เคยปล่อยให้ผู้ป่วยขาดยา แต่ผู้ป่วยต้องลำบากเพราะต้องเดินทางมารับยาหลายรอบ บางคนมารับ 3 เดือนครั้ง ก็ต้องมาเดือนละ 1-2 ครั้ง บางคนติดธุระมารับยาไม่ได้ เดินทางไกลยากลำบาก ก็อาจขาดยา

ล่าสุดในเดือน ส.ค.นี้ โรงพยาบาลสมเด็จและอีกหลายโรงพยาบาลได้ทยอยจัดสรรยาเพิ่มให้โรงพยาบาลกมลาไสยแล้ว ทำให้ปัญหาเริ่มคลี่คลาย

ทีมข่าวไทยพีบีเอส สอบถามนายสุริยะ นาไชย ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับการรักษาและรับยาที่โรงพยาบาล อ้างว่า

เห็นข่าวในทีวี คนชุมนุมประท้วงว่าไม่ได้รับยา ผมตกใจ ผมมาหาหมอเดือนละครั้ง ที่ผ่านมาก็ได้ยาครบ ไม่เคยมีปัญหา

เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันอีกหลายคนที่บอกว่า ได้รับยาครบตลอด ไม่เคยขาดยา

ส่วนผู้ป่วยที่ออกมาชุมนุมให้ข้อมูลอีกด้าน ซึ่งนางทองจันทร์ มาลำโกน อายุ 72 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อ้างว่า

ทุกเดือนต้องไปรับยาสลายลิ่มเลือด ยาลดไขมัน และยาลดความดัน ตอนนี้บางตัวกินหมดแล้ว โทรไปถามโรงพยาบาลก็บอกว่ายังไม่มี จึงไปขอยืมเพื่อนบ้านที่ป่วยโรคเดียวกันมากินก่อน เพราะหากไม่กินยาต่อเนื่องอาการจะกำเริบ

ขณะที่นายสมจิตร โมครัตน์ ชาว จ.กาฬสินธุ์ อ้างว่า

สิ้นเดือนไปตรวจทุกเดือน บางเดือนก็ได้ยาครบ บางเดือนก็ได้ไม่ครบ หมอบอกว่าถ้ายามาจะส่งให้ทีหลัง ไปยืมทางไหนก็ไม่รู้ บอกว่าได้ทีหลัง บางเดือนก็มี บางเดือนก็ไม่มี ได้ไม่ครบ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียก นพ.วรวิทย์ เจริญพร รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย และ นพ.ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าชี้แจงรายละเอียดปัญหาและแนวทางแก้ไข

ขณะที่นายวีระศักดิ์ ศรีโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า จังหวัดได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยทางจังหวัดต้องการให้แก้ไขกรณีการตั้งกรรมการตรวจสอบเอกสารกว่า 100 ฉบับที่ถูกอายัด เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ตามปกติ

ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงยังไม่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสยคนใหม่ จังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยัน ที่ผ่านมาสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ได้เปิดโอนย้ายแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง