วันนี้ (6 ส.ค.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการความร่วมมือด้านการลดอันตรายจากยาเสพติดไทย - เยอรมนี ปี 2562 ครั้งที่ 3 และรับมอบคู่มือ S3 เวชปฏิบัติการบำบัดความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน จากผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลเยอรมนี นำโดย ดร. วูฟ ดีทิช บราววาร์ด (Wolf-Dietrich Braunwarth), ดร. โฮลาน ฮาเทล พีทรี (Roland Hartel - Petri) และคุณนอร์เบิร์ด วิทมัน (Mr. Norbert Wittmann) ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัย นักวิชาการ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 70 คน ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแนวทางในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดรอบด้าน โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การลดปัญหาอันเกิดจากยาเสพติดที่มีต่อตัวบุคคล ครอบครัว และสังคม โดยยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “สำหรับคู่มือ S3 เป็นแนวทางการดูแลผู้ใช้สารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ซึ่งเป็นการรวบรวมงานวิจัยและแนวทางการดำเนินงานที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้บุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดรักษาในสถานพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้ดูแลช่วยเหลือหลังการบำบัด และภาคประชาสังคม มีความเข้าใจและสามารถให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเนื้อหาในคู่มือครอบคลุมถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของผู้ป่วย มาตรการในการดูแลช่วยเหลือหลังบำบัด การลดอันตรายจากยาเสพติด การลดการเสพติดซ้ำ
โดยในการประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค อันจะนำไปสู่การนำคู่มือดังกล่าวไปปรับใช้ในบริบทของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยและประเทศเยอรมนี จึงได้พัฒนาความร่วมมือด้านยาเสพติด โดยเฉพาะด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานหุ้นส่วนระดับโลกด้านการพัฒนาและนโยบายยาเสพติด (GPDPD) ภายใต้องค์กรความร่วมมือทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GIZ) ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในการลดอันตรายจากยาเสพติด ผ่าน 2 กลไกที่สำคัญ คือ การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด ซึ่งจัดร่วมกับ NGOs
โดยการประชุมฯ ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อปี 2560 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ณ กรุงเทพมหานคร, ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ณ กรุงเทพมหานคร และในครั้งนี้เป็นการจัดโครงการความร่วมมือไทย - เยอรมัน ด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ GPDPD ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด ถือเป็นครั้งที่ 3 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทาง
การบำบัดผู้ป่วยผู้ที่ติดยาเสพติด มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2560 - ปัจจุบัน”