วันนี้ (6 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านนโยบายและแผน ได้ชี้แจงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงรูปแบบการแก้ไขที่มี 2 รูปแบบ คือคณะรัฐมนตรีเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและการเปิดให้มีคณะบุคคลเข้ามาดำเนินการ
นายโภคิน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นการร่างใหม่โดยประชาชน และผ่านความเห็นชอบโดยประชาชนด้วนการทำประชามติ ทั้งนี้เห็นว่าควรมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มีสมาชิก 200 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จากนั้นต้องร่างให้เสร็จภายใน 240 วัน
ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 29 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 15 คน ,ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 5 คน ,ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ 5 คน ,ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน 4 คน เมื่อยกร่างแล้วเสร็จจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภารัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงส่งไปยัง กกต. เพื่อจัดทำประชามติ
นอกจากนี้วิปฝ่ายค้าน ยอบรับมีกังวลในบางมาตราควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงได้ก่อน ถ้าไม่ได้แก้ทั้งฉบับ เพราะแก้ทีละมาตรานั้นเป็นไปได้ยาก หรือการแก้ไขประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะไม่ต่อเนื่องสอดคล้อง ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับแนวทางนี้
โดย ส.ส.ฝ่ายค้านจะเข้าชื่อเพื่อเสนอต่อวาระการประชุมรัฐสภา ระหว่างนี้จะขอความเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะเชิญชวนพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
ส่วนข้อกังวลเรื่องการล็อกสเปก ส.ส.ร.นายโภคินระบุว่า ได้มีการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญให้มีคุณสมบัติเดียวกับผู้ที่สมัครรับเลือกตั้ง แต่ห้ามผู้ที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญทั้งบุคคลที่อยู่ในแม่น้ำ 5 สาย มาร่วมในกระบวนการนี้
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นปัญหาต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทย ด้วยเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมจำนวนมากถึง 19 พรรค อาจทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ยังนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งโดยเฉพาะกระบวนการการเลือกตั้ง
พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงถึงกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นด้วยการเปิดเว็บไซต์ให้ประชาชน แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยแก้ไข ซึ่งจำนวนของประชาชนที่เข้ามาเสนอแนะนั้นจะชี้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการโดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในที่ต่างๆ ควบคู่กับการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชน
นอกจากนี้ ชี้แจงว่า ส.ส.ร.ภาคประชาชน 200 คน จัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนแล้วแต่ความเห็นชอบ และเบื้องต้นจะแก้ 2 มาตรา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ระบุว่าจะตั้งคณะกรรมมาธิการขึ้นมาศึกษาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ