วันนี้ (7 ส.ค.2562) นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า จากกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) จับตาการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกในวันที่ 10 ส.ค.นี้
ดาวเคราะห์น้อยที่จะเข้าใกล้โลก คือ ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 จะเคลื่อนผ่านใกล้โลกที่ระยะห่างประมาณ 7.3 ล้านกิโลเมตร หรือหากเทียบระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงจันทร์ ประมาณ 0.38 ล้านกิโลเมตร มีความเร็วประมาณ 16,740 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นวัตถุใกล้โลก เนื่องจากอยู่ในระยะห่างที่นักดาราศาสตร์นิยามไว้ คือใกล้โลกน้อยกว่า 195 ล้านกิโลเมตร
ดาวเคราะห์น้อย QQ23 ถูกค้นพบโดยหอดูดาวไซดิงสปริง ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 จัดเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 263 วัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 570 เมตร เคยโคจรเข้าใกล้โลกหลายครั้งแล้ว การโคจรเข้าใกล้โลกในวันที่ 10 ส.ค.นี้ จึงถือเป็นเรื่องปกติ
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง570 เมตร ยาวกว่าความสูงของตึกใบหยกเกือบ 2 เท่า แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่ และอยู่ในระยะห่างที่ต้องเฝ้าระวังภัย แต่เราก็ไม่ควรกังวลว่าจะพุ่งเข้าชนโลก เพราะอยู่ไกลมาก
นาซ่าและนักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามวัตถุเหล่านี้มาตลอด ไม่ใช่เพราะเป็นภัยต่อโลก แต่เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นภัยต่อโลกจริงๆ และการเข้าใกล้โลกแบบนี้ นับเป็นโอกาสอันดีในการศึกษา
นอกจากนี้ จากการเฝ้าระวังมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบวัตถุขนาดใหญ่เช่นนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 6 วัตถุต่อปี โคจรเข้าใกล้โลกของเรา จนถือเป็นเหตุการณ์ปกติไปแล้ว สำหรับ สดร.เตรียมใช้กล้องโทร ทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ณ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศสำหรับสังเกตการณ์วัตถุนอกโลก ร่วมกับนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเช่นกัน
ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.space.com