วันนี้ (7 ส.ค.2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม หารือร่วมกับแท็กซี่ 4 กลุ่ม ได้แก่ สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย, ตัวแทนจากชมรมแท็กซี่พัทยา, ตัวแทนจากแท็กซี่ส่วนบุคคลทั่วไป และตัวแทนแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมด้วยกรมการขนส่งทางบก เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ
หลังหารือได้ข้อสรุปทั้ง 2 ฝ่าย อัตราค่าจ้างรถบรรทุกโดยสารแท็กซี่ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดคือ ยังคงอัตราระยะทาง 1 กม. แรก ที่ 35 บาท ในส่วนของระยะทางเกินกว่า 1-10 กม. ปรับเป็น กม. 6.50 บาท จากเดิม 6 บาท
ขณะที่ระยะทางเกินกว่า 10-20 กม. จะอยู่ที่ กม.ละ 7 บาท (ตามเดิม) ระยะทางเกินกว่า 20-40 กม. อยู่ที่ กม.ละ 8 บาท (ตามเดิม) ระยะทางเกินกว่า 40-60 กม. จะอยู่ที่ กม.ละ 8.50 บาท (ตามเดิม) ระยะทางเกินกว่า 60-80 กม. จะอยู่ที่ กม.ละ 9 บาท (ตามเดิม) และระยะทางเกินกว่า 80 กม.ขึ้นไป จะอยู่ที่กิโลเมตรละ 10.50 บาท (ตามเดิม) ส่วนกรณีรถติดหรือรถวิ่งได้ไม่เกิน 6 กม.ต่อชม. จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในช่วงรถติด 1 บาทต่อนาที หรือเป็น 3 บาทต่อนาที จากเดิม 2 บาทต่อนาที โดยรวมรถทุกประเภทจากเดิมที่ใช้กับรถที่เข้าร่วมโครงการ Taxi OK เท่านั้น
ส่วนกรณีรถติด หรือรถวิ่งได้ไม่เกิน 6 กม./ชม. จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในช่วงรถติด 1 บาท/นาที หรือเป็น 3 บาท/นาที จากเดิม 2 บาท/นาที ซึ่งรวมรถทุกประเภท จากเดิมที่ใช้กับรถที่เข้าร่วมโครงการแท็กซี่ โอเค เท่านั้น ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 เดือนนับจากนี้
แต่มีเงื่อนไขว่า กรมการขนส่งทาบกจะต้องไปพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อรองรับการยกเลิกแท็กซี่ โอเค ให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อให้แท็กซี่เข้าสู่ระบบตามมาตรฐานเดียวกันและสามารถตรวจสอบได้ โดยการยกเลิกแท็กซี่ โอเค เป็นไปตามข้อเสนอของกลุ่มแท็กซี่ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการ
ส่วนค่าเซอร์ชาร์จแท็กซี่สุวรรณภูมิ จะอนุมัติให้ปรับจาก 50 เป็น 70 บาท และรถขนาดใหญ่เป็น 90 บาท ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกไปประสานงานร่วมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารรับทราบ และในส่วนค่าขนกระเป๋าสัมภาระ ก็จะอนุมัติให้เก็บใบละ 20 บาท ความกว้าง 26 นิ้วขึ้นไป ตั้งแต่ใบที่ 3 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การให้รถส่วนบุคคล รถป้ายดำ หรือแกร็บ สามารถนำมาให้บริการสาธารณะได้นั้น ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกไปดำเนินการแก้กฎหมายเพื่อรองรับการให้บริการดังกล่าว และให้นำเข้าสู่ระบบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งในส่วนของอัตราค่าโดยสารจะแตกต่างกับรถแท็กซี่ทั่วไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ
รถป้ายดำ รถส่วนบุคคลที่จะมาให้บริการสาธารณะ การจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย โดยกรมฯ จะต้องไปแก้กฎหมายที่ต้องกำหนดประเภทรถในลักษณะรถส่วนบุคคลเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องใบขับขี่ จะต้องเสียภาษีในมาตรฐานเดียวกัน ในอนาคตแกร็บก็จะเหมือนสหกรณ์แท็กซี่อีกหนึ่งสหกรณ์
ส่วนประเด็นแท็กซี่วีไอพี ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกออกกฎหมายบังคับให้ผู้ที่จะให้บริการต้องจดทะเบียนในนามนิติบุคคลเท่านั้น แต่หลังจากนี้จะอนุมัติให้บุคคลธรรมดาสามารถจดทะเบียน เพื่อให้บริการแท็กซี่วีไอพีได้ แต่รถที่จะนำมาใช้จดทะเบียนต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการขอยืดอายุการใช้งานรถแท็กซี่ในระบบ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องตรวจสภาพรถแท็กซี่ทุก 3 เดือนตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ หากรถไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพดังกล่าว แท็กซี่คันนั้นจะต้องหยุดวิ่งให้บริการทันที
ส่วนกรณีข้อเรียกร้องที่ผู้ประกอบการขอให้ดำเนินคดีกับบริษัทแกร็บ กรมการขนส่งทางบกได้นำหลักฐานมาชี้แจงให้กลุ่มแท็กซี่ทราบว่า เคยมีการแจ้งดำเนินคดีกับบริษัทในข้อหาเชิญชวนให้ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนรถสาธารณะมาวิ่งให้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งการดำเนินคดีดังกล่าวได้ปรับไปแล้ว 4,000 บาท และเป็นโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้