วันนี้ (8 ส.ค. 2562) ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับทางกลุ่มตัวแทนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากการหารือได้ข้อสรุปว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกรมการขนส่งทางบก สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำ และได้สั่งการให้ทางกรมการขนส่งทางบกประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องแอปพลิเคชันที่กระทำผิดกฎหมาย ว่าเป็นการดำเนินการถูกต้องหรือไม่และจะต้องมีการดำเนินการอย่างไร
ส่วนการจัดทำแอปพลิเคชัน ทางสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้ขัดข้อง แต่การดำเนินการจัดทำแอปพลิเคชัน จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขกรมการขนส่งทางบก เบื้องต้นได้มีกรอบระยะเวลาในการจัดทำ 1 เดือนต้องเรียบร้อย
บริษัทที่ทำต้องเป็นของคนไทย อยู่ภายใต้การกำกับ ไม่มีการผูกขาด ใครมีความสามารถเป็นบริษัทไทยทำได้หมด เพราะเป็นเสรี ประโยชน์จะอยู่ที่ประเทศไทย
ขณะที่ประเด็นเรื่องสถานที่จุดจอดของวินรถจักรยานยนต์ จะต้องมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้ขัดกับระเบียบของกรุงเทพมหานครในการใช้ทางเท้า โดยได้สั่งให้กรมการขนส่งทางบกไปสำรวจพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างเป็นจุดจอดทั้งหมดของวินรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงกำหนดรัศมีที่จำกัดไม่ให้แอปพลิเคชันไปรับผู้โดยสารตัดหน้า เบื้องต้นได้สั่งการให้ไปศึกษาระยะรัศมีให้ชัดเจนด้วย และในส่วนของใบขับขี่ดิจิทัลในกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะนั้นก็มีแผนที่จะต้องดำเนินการศึกษาด้วย
ส่วนประเด็นการขอให้มีการจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะได้เสรีไม่ถูกจำกัดกรอบเวลา รวมถึงต้องการให้ทางกรมการขนส่งทางบกช่วยดำเนินการให้เกิดความสะดวกในการจัดการประชุมคณะกรรมการที่ได้มีการตกลงว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ระดับคือ ระดับพื้นที่ที่จะมี 5 ชุดตามเขตพื้นที่ของกรมการขนส่งในกรุงเทพมหานคร ส่วนของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฯแบ่งเป็นชุดละ 3 คน เพื่อสะท้อนปัญหาให้ทางคณะกรรมการชุดดังกล่าวแก้ไขปัญหาและจะมีการจัดประชุมทุกๆ 3 เดือน
และคณะกรรมการที่กำกับภาพรวมที่มีอธิบดีกรมการขนส่งเป็นประธาน จะเพิ่มตัวแทนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมดอีก 5 คน และจะมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อกำหนดมาตรต่างๆเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาให้กับรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ
ส่วนเรื่องการจัดทำเรื่องอัตราค่าโดยสาร ได้ให้ตัวแทนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฯ หารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบกทำการศึกษาในกรอบเวลา 1 เดือน พร้อมเน้นย้ำว่า การศึกษาต้องรอบคอบ และจะไม่เป็นภาระจนทำให้เกิดคำถามสาธารณะตามมาว่ากำหนดมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น