ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"มาเรียม" เครียด ล่าสุดอาการดีขึ้น เฝ้าระวัง 24 ชม.

สิ่งแวดล้อม
10 ส.ค. 62
15:13
3,165
Logo Thai PBS
"มาเรียม" เครียด ล่าสุดอาการดีขึ้น เฝ้าระวัง 24 ชม.
สัตวแพทย์เผย พะยูนมาเรียมมีภาวะเครียด ล่าสุดอาการเริ่มดีขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมแผนย้ายสถานที่ดูแลมาเรียม

วันนี้ (10 ส.ค.62) เฟซบุ๊ก ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพและข้อมูลว่า นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 รายงานเข้ามาว่า ได้รับรายงานจากหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พบมาเรียมมีภาวะเครียดซึ่งมีสาเหตุมาจากในช่วงเย็นของวันที่ 7 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา ระหว่างสัตวแพทย์พามาเรียมกินหญ้าทะเลอยู่หน้าอ่าวพบว่ามีพะยูน ขนาดโตเต็มวัย ว่ายน้ำเข้ามาเผชิญหน้าแบบคุกคาม (ไล่) ทำให้มาเรียม ตกใจมาก และว่ายน้ำหนีกลับเข้ามาในอ่าว ซึ่งต่อมายังพบพะยูน ตัวโตเต็มวัย ว่ายวนเวียนอยู่บริเวณทุ่น ห่างจากเสาที่ติดตั้งกล้องตัวที่ 6 ประมาณ 5 ม.

เบื้องต้นพบว่า มาเรียมมีอาการอ่อนเพลีย ดื่มนมได้น้อยและไม่ค่อยจะว่ายน้ำ ทางทีมสัตว์แพทย์จึงมีความเห็นว่าต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.ซึ่งเริ่มดูแลมาแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.62 เป็นต้นมา

ด้านสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุ อาการล่าสุดของมาเรียม วันนี้มีอาการดีขึ้นแล้วสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดีขึ้น ออกว่ายน้ำคู่ไปกับเรือแม่ส้มได้อย่างช้า ๆ โดยมีการสลับกับการพักจากการตรวจร่างกาย พบลมหายใจมีกลิ่น ตรวจปอดข้างซ้ายปกติ โดยมีการพิจารณาเก็บตัวอย่างลมหายใจเพื่อวิเคราะห์เซลล์และเพาะเชื้อต่อไป อัตราการเต้นของหัวใจปกติ การลอยตัว และการจมตัว สามารถทำได้ปกติ นอกจากนี้ ทีมพี่เลี้ยงได้วางแผนเฝ้าระวังโดยจะใช้เรือแม่ส้มอีกลำพายประกบไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนตัวอื่นเข้ามาในพื้นที่

ที่ผ่านมาทางทีมสัตวแพทย์ได้พิจารณาป้อนกลูโคส และเกลือแร่เสริมให้และปล่อยให้พักกับเรือแม่ส้ม สลับกับการให้อาหาร โดยป้อนกลูโคสและเกลือแร่ทุกๆ 1 ชม.มีการป้อนนมให้อย่างต่อเนื่องทั้งคืน พบว่า มาเรียม กินนมเพียง 100 มล. กินหญ้าทะเลเพียงเล็กน้อย ทางทีมสัตวแพทย์ต้องเฝ้าอยู่กับมาเรียมตลอด 24 ชม. เพื่อรอดูอาการ ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นจะมีการพิจารณาในขั้นต่อไป

สำหรับแผนการดำเนินการที่เตรียมไว้ ทช.จะร่วมกับกองทัพเรือ กรมอุทยานฯ และมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตตรัง คือ การเปลี่ยนพื้นที่ดูแล เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่น้องมาเรียมอยู่ในปัจจุบัน พบว่าเป็นเขตผสมพันธุ์ Mating Zone จะพบพะยูน เพศผู้ อยู่เดี่ยวๆ หลายตัว หรือเคลื่อนย้ายไปพักในบ่อของมหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตตรัง หรือเคลื่อนย้ายไปที่โรงพยาบาลของศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ที่แหลมพันวา จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ จะพิจารณาตามความเหมาะสม และความพร้อมของ น้องมาเรียม ทีมสัตวแพทย์ และสภาพคลื่นลมในพื้นที่ต่อไป

 


นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) โพสต์เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong โดยระบุว่า สถานการณ์ภัยคุกคามที่มาเรียมเจอในช่วงนี้ เกิดจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของพะยูนเองผนวกกับความรุนแรงของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ความพร้อมของพื้นที่และกำลังเจ้าหน้าที่เป็นตัวแปลของสมการที่ต้องหาคำตอบให้ได้

 

เนื้อหา ภาพ : ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง