นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงแผนรองรับเคลื่อนย้ายพะยูนมาเรียม มารักษาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต หลังมาเรียมมีอาการเครียด และทีมสัตวแพทย์พบอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยนำตัวขึ้นมารักษาในบ่ออนุบาลชั่วคราวที่เขาบาตู ขณะนี้ต้องรอประเมินภายหลังให้ยาปฏิชีวนะภายใน 3 วัน ว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
รองอธิบดี ทช. ยืนยันว่าขณะนี้ทีมสัตวแพทย์มีกำลังใจดีเยี่ยมที่จะดูแลมาเรียมให้แข็งแรงและหายจากอาการป่วย นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมของรถฉุกเฉินช่วยเหลือสัตว์ทะเลไว้บนฝั่ง หากต้องย้ายมาเรียมลงเรือจากเกาะลิบงมาขึ้นรถ และเดินทางมาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ใช้เวลา 6 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมแผนการเคลื่อนย้ายทางเฮลิคอปเตอร์ ที่จอดบริเวณบ้านบาตูปูเต๊ะ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการเดินทางมาลงที่ฐานทัพเรือภาคที่ 3 จ.พังงา และเคลื่อนย้ายมาที่ จ.ภูเก็ต อีกประมาณ 5-10 นาที อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินอาการของมาเรียมว่าแข็งแรงพอที่จะเคลื่อนย้ายหรือไม่
การสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่ญี่ปุ่น ที่เคยมีประสบการณ์เคลื่อนย้ายสัตว์ทะเลหายากทางอากาศ สามารถทำได้ ส่วนการขนทางรถฉุกเฉินก็ทำได้ แต่มาเรียมที่มีอาการติดเชื้อและหายใจลำบาก เพราะหัวใจเต้นเร็ว 140 ครั้งต่อนาที หากเดินทางนานหลายชั่วโมงจะมีภาวะเครียด และมีน้ำหนักกดทับในระหว่างเคลื่อนย้าย จึงต้องระวังในการเคลื่อนย้าย
มาเรียม เป็นลูกพะยูนอายุ 8 เดือน ที่พลัดหลงแม่และเกยตื้นที่ จ.กระบี่ จากนั้นทีม ทช. นำตัวมาดูแลในพื้นที่ทะเลธรรมชาติเป็นครั้งแรก ที่เขาบาตู เกาะลิบง จ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมและการเลี้ยงพะยูนในธรรมชาติ โดยทีมสัตวแพทย์ ทช. และกรมอุทยานฯ ซึ่งปลุกกระแสการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง