ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนรอยที่มา โครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

12 ส.ค. 62
15:19
1,966
Logo Thai PBS
ย้อนรอยที่มา โครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
ย้อนไปเมื่อ เดือนกันยายน จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ชุมชน 3,273 แห่งทั่วประเทศ ทยอยจัดงานเปิดตัวโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” โครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 9 พันล้านบาท ผ่านมา 1 ปี คำตอบว่า งบประมาณนี้คุ้มค่าหรือไม่ อาจเริ่มชัดเจน

ทำไมต้องอัดงบ ทำ OTOP นวัตวิถี

โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นการใช้งบประมาณ จากการจัดทำรายจ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาล

4 ปี ในการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จากงบประมาณปกติถึง 3 ครั้ง

ปี 2561 จัดสรรงบประมาณไว้สำหรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเน้นการท่องเที่ยวชุมชน จำนวนกว่า 3 หมื่น 4 พัน 500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 9 พันล้านบาท ถูกใช้ไปกับ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

งานวิจัย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดย ภูมิพิชญ์ ยาสิทธิ์ นักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ศึกษาการทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  เขาให้ข้อมูลกับทีมข่าว ว่า การทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ของรัฐบาล คสช. เพื่ออัดฉีดเงินส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาสินค้าโอทอป กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้จริง

แต่โครงการลักษณะนี้ ควรกำหนดไว้ในการทำงบประมาณประจำปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน อย่างงบที่ต้องใช้ในช่วงเกิดภัยพิบัติ

ที่สำคัญหากเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี การตรวจสอบ และการติดตามความคุ้มค่าของงบประมาณ จะเข้มข้นกว่า

ขณะที่ รศ.สถาพร เริงธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาตร์ ม.ขอนแก่น มองว่า โครงการนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะชุมชนที่ไม่มีความเข้มแข็ง หรือความพร้อมจัดการท่องเที่ยว

จึงมีคำถามว่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงใด ถึงต้องใช้งบประมาณมากมายเพียงนี้และต้องเร่งทำในปี 2561 ก่อนเลือกตั้ง

ภาครัฐมีทางเลือกและรูปแบบในการพัฒนาโครงการโอทอป ที่เหมาะสมกว่านี้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม ที่รอคำตอบ

นักวิชาการยังเสนอว่าโครงการพัฒนาสินค้าโอทอป และการท่องเที่ยวชุมชน ควรเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องในระยะยาว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนต้องมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ไม่ใช่การสั่งการจากบนลงล่าง จากกรมพัฒนาชุมชนลงสู่หมู่บ้าน เช่นนี้

OTOP นวัตวิถี ใต้ร่ม ไทยนิยม ยั่งยืน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ระบุว่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถูกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน จากการที่รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มุ่งสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดสรรงบประมาณ และกลไกการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

สำหรับเม็ดเงินในโครงการนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 3 หมื่น 5 แสน ล้านบาท การพัฒนาเชิงพื้นที่ ชุมชน การท่องเที่ยว และกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 3 หมื่น 4 พัน 500 ล้านบาท และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรจำนวน 3 หมื่นล้านบาท

หลังดำเนินการโครงการย่อยทั่วประเทศ พบการร้องเรียนให้ตรวจสอบความโปร่งใสอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หมู่บ้านหรือชุมชนละ 2 แสนบาท และล่าสุดกับการร้องเรียนให้ตรวจสอบความคุ้มค่าของ  โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่ผ่านมา 1 ปี แต่บางชุมชนไม่สามารถต่อยอดโครงการได้ และพบการใช้งบสูงเกินจริง

 

 

รัฐเปิดทางสะดวกให้โครงการเร่งด่วน

ข้อมูลแผนปฏิบัติการของกรมพัฒนาชุมชน กำหนด โรดแมพการขับเคลื่อนโครงการชุมชนท่องเที่ยวฯ ไว้เพียง 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคมถึงสิงหาคม พัฒนาภูมิทัศน์ และพัฒนาโอทอป กันยายนจัดแสดงผลงานความสำเร็จ

งบประมาณกว่า 9 พันล้านบาท มีกิจกรรมทั้งหมด 18 กิจกรรม กิจกรรมในส่วนภูมิภาค หรือ 3,273 ชุมชน ใช้งบกว่า 8 พันล้านบาท หรือเฉลี่ย หมู่บ้านละ 2 ล้าน 5 แสนบาท

งบประมาณที่สูง และรายละเอียดการดำเนินการที่มีหลายกิจกรรม หลายขั้นตอน ทำให้หลายพื้นที่ต้องเร่งรีบจัดงานให้ทันตามกรอบระยะเวลา ภาพชุมชนจัดงานเปิดตัวเกิดขึ้น ทั้งที่การก่อสร้างจุดเช็คอิน และงานปรับภูมิทัศน์ยังไม่แล้วเสร็จ

สำนักงบประมาณ ส่งหนังสือแจ้งขยายระยะก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จากที่ต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561เป็นภายในเดือนกันยายน 2561 ทีมข่าวได้รับข้อมูลจากผู้รับเหมาเอกชนคนหนึ่ง บอกว่า คำสั่งนี้ส่งผลดีต่อการปรับภูมิทัศน์สร้างจุดเช็คอิน ที่ผู้รับเหมาทำไม่ทันตามกรอบระยะเวลาเบิกจ่ายงบประมาณ สามารถขยายเวลาได้ถึงเดือนพฤศจิกายน

เช่นเดียวกับหนังสือ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ก็ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ทำได้รวดเร็ว

ผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานโครงการนี้ ตั้งข้อสังเกตุว่า ภาครัฐ พยายามดำเนินการทุกอย่าง เพื่อเปิดทางให้โครงการนี้ทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทันต่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี

แต่ผ่านมา 1 ปี มีหลายชุมชนที่ทยอยส่งข้อมูลให้ทีมข่าวไทยพีบีเอส เข้าไปตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง