วันนี้ (13 ส.ค.2562) 11.20 น. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า "โฮป" ลูกวาฬหัวทุยแคระ ตายแล้วเมื่อเวลา 23.23 น. ของคืนวันที่ 12 ส.ค.2562 หลังจากที่ทีมสัตวแพทย์เฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และพยายามยื้อชีวิตมาอย่างต่อเนื่องตลอด 9 วันเต็ม สาเหตุของการตายเกิดจากภาวะช็อก, การติดเชื้อในร่างกาย, และภาวะการแห้งน้ำอย่างรุนแรง (Severe Dehydrate)
ทั้งนี้ ผลการตรวจทางโลหิตวิทยา พบภาวะการติดเชื้อในร่างกาย มีภาวะการแห้งน้ำรุนแรง พบค่าการทำงานของตับและไตสูง และมีภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ, ผลการตรวจอัลตราซาวด์ พบแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้จำนวนมาก และมีการเคลื่อนไหวของลำไส้มากกว่าปกติ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งข่าวร้ายว่า ลูกวาฬหัวทุยกำพร้าอายุประมาณ 1 เดือน ที่เกยตื้น และ ทช. นำมาเฝ้ารักษาอาการป่วยอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน แหลมพันวา จ.ภูเก็ต ตายแล้วเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) จากอาการติดเชื้อ ทั้งนี้ ยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชีวิตที่ทางทีมแพทย์จะต้องดูแลรักษากันต่อไป ขอฝากไปถึงประชาชนให้ช่วยเป็นกำลังใจให้กับทีมแพทย์ที่ดูแลสัตว์ทะเลด้วย
ขณะที่นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า จากการประเมินอาการโฮปมีสภาพร่างกายอ่อนแอตั้งแต่รับมาดูแลครั้งแรก โดยเมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) มีอาการตัวลอย ตัวเอียง ว่ายน้ำหลังคด ทีมสัตวแพทย์ระบุว่า สัญญาณไม่ค่อยจึงได้ให้ยาปฏิชีวนะ กระทั่งโฮปตายในเวลา 23.23 น. ถือเป็นความสูญเสีย เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เป็นวาฬหัวทุยแคระตัวแรกที่พบและมีชีวิตอยู่ได้ หลังจากนี้ทีมสัตวแพทย์จะเร่งชันสูตรหาสาเหตุการตาย พร้อมถอดบทเรียนเป็นข้อมูลและกรณีศึกษาในอนาคต เกี่ยวกับการช่วยชีวิตวาฬเกยตื่น
ด้านนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) โพสต์ในเฟซบุ๊ก "Kongkiat Kittiwatanawong" เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา บอกเล่าความหมายของชื่อ "โฮป" ว่า เรามีความหวังดังชื่อของเขา และเป็นความหวังสำหรับสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตัวอื่น ๆ ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติต่อไป แม้รู้ว่าจะยากเพียงใด แต่ความหวังก็เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงการทำงานของทีมงานทุกคน
สำหรับ “โฮป” ทช. รับมาอนุบาลตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.2562 หลังได้รับแจ้งพบวาฬหัวทุยแคระ 2 ตัว เกยตื้นบริเวณชายหาดบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา แต่เมื่อไปถึงพบว่าตัวแม่ตายไปก่อน ส่วนอีกตัวคือ “โฮป” เป็นลูกวาฬ เพศผู้ ความยาว 110 ซ.ม. หนัก 15 กก. จึงเคลื่อนย้ายมาอนุบาลที่ศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน พบว่า “โฮป” มีสภาพร่างกายที่อ่อนแรง ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับที่ถือว่าผอมกว่าปกติ มีรอยแผลถลอกที่เกิดจากการเกยตื้นหลายแห่งบริเวณส่วนหัวและลำตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ช่วย 2 วาฬหัวทุยแคระ เกยตื้นหาดบ้านในไร่ จ.พังงา
ดูแลใกล้ชิด "ลูกวาฬหัวทุยแคระ" กำพร้าแม่