นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันว่า "โฮป" มีอาการตัวลอย ตัวเอียง ว่ายน้ำหลังคด ทีมสัตวแพทย์ได้ระบุว่าเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี จึงให้ยาปฏิชีวนะ กระทั่งโฮปได้ตายลงในเวลา 23.23 น. ถือเป็นความสูญเสีย เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เป็นวาฬหัวทุยแคระตัวแรกที่พบและมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งการสูญเสียโฮปสร้างความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ ทช.เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และพยายามยื้อชีวิตมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 9 วันเต็ม
ทีมสัตวแพทย์ทำการชันสูตรหาสาเหตุการตาย พบว่าลูกวาฬหัวทุยแคระมีสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายระดับผอม พบรอยแผลจากการเกยตื้นที่บริเวณส่วนหัว ซึ่งมีการสมานแผลแล้ว โดยพบน้ำในถุงหุ้มหัวใจ ไม่พบเลือดในเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะช็อก พบน้ำคั่งในช่องอกและช่องท้อง มีภาวะปอดอักเสบเรื้อรัง กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง พบแผลหลุมและเนื้อตาย มีพยาธิอัดแน่นในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน เยื่อหุ้มสมองอักเสบและมีเลือดคั่งในสมอง
ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้สรุปสาเหตุการตายมาจากภาวะช็อกและการติดเชื้อในร่างกายเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ตัวสัตว์อ่อนแอและเสียชีวิตในที่สุด หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อนำไปตรวจทางจุลพยาธิวิทยาต่อไป อธิบดี ทช.เน้นย้ำว่ายังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชีวิตที่ทางทีมแพทย์จะต้องดูแลรักษา จึงอยากให้ประชาชนเป็นกำลังใจให้กับทีมแพทย์ที่ดูแลสัตว์ทะเลด้วย
ทั้งนี้ ลูกวาฬหัวทุยแคระตัวดังกล่าวถูกพบเกยตื้นพร้อมแม่วาฬ บริเวณชายหาดบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่แม่วาฬได้ตายไปก่อนที่เจ้าหน้าที่ ทช.จะเข้าช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่จึงได้เคลื่อนย้ายลูกวาฬที่รอดชีวิตมาอนุบาลเลี้ยงดูและพักฟื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ขณะนั้นลูกวาฬมีสภาพร่างกายอ่อนแรง ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับที่ถือว่าผอมกว่าปกติ มีรอยแผลถลอกที่เกิดจากการเกยตื้นหลายแห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตั้งชื่อให้ลูกวาฬหัวทุยแคะตัวดังกล่าวว่า "โฮป" เพื่อเป็นความหวังให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"โฮป" ลูกวาฬหัวทุยแคระ ช็อก-ติดเชื้อตาย