วันนี้ (14 ส.ค.2562) นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดถึงกรณีข้อพิพาทค่าชดเชยทางด่วนมูลค่า 100,000 ล้านบาทว่า เกิดจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่ปรับค่าผ่านทางให้ตามสัญญาและไม่มีการเยียวยา กรณีสร้างทางแข่งขันดอนเมืองโทลล์เวย์ ดังนั้นจึงเกิดข้อพิพาทกันตั้งแต่ชั้นอนุญาโตตุลาการไปจนถึงชั้นศาลสูงสุด
ขณะที่ปัจจุบันถือว่าการเจรจาคืบหน้าไปมากแล้ว และถือว่าได้ข้อสรุปก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยทางออกที่มีขณะนี้ เชื่อว่าดีที่สุดสำหรับฝ่ายรัฐบาล ประชาชนจะไม่เสียประโยชน์ แม้ว่าฝ่ายเอกชนเองจะเสียประโยชน์ไปบ้างแต่ก็ถือว่าทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
พร้อมมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะไม่เปลี่ยนเงื่อนไขการเจรจาที่มีมาตลอด 1 ปี เนื่องจากหากจะต่อสู้คดีต่อไป การทางฯ อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยมากถึง 326,000 ล้านบาท ซึ่งมีกรณีข้อพิพาทการแข่งขัน 210,000 ล้านบาท และข้อพิพาทเรื่องปรับค่าผ่านทาง 116,000 ล้านบาท แต่ข้อสรุปที่ตกลงกันได้ คิดเป็นมูลหนี้เพียง 58,873 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลหนี้ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับเงื่อนไขการเจรจาเพื่อจบข้อพิพาททั้งหมดนั้น คือการต่อขยายสัมปทานทางด่วน 3 เส้นทางไปอีก 30 ปี พร้อมกับเอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 (Double Deck) และทางหลีก Bypass วงเงินลงทุนรวม 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 คือ การยกเลิกข้อพิพาททั้งหมดพร้อมต่อขยายสัมปทาน 15 ปี โดยหมดอายุสัมปทานทุกเส้นทางพร้อมกันที่ 31 ต.ค.2578 และต้องแบ่งรายได้ให้การทางฯไม่น้อยกว่าเดิมคือร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมดพร้อมกับเงื่อนไขปรับค่าผ่านทางได้ทุก 10 ปี
สัญญาที่ 2 คือต่อขยายสัมปทานเพิ่มอีก 15 ปี พร้อมลงทุนก่อสร้าง Double Deck ก่อสร้าง ByPass ก่อสร้างจุดขึ้น-ลงที่สถานีกลางบางซื่อ และก่อสร้างด่านเก็บเงินเพิ่มอีก 2 จุดที่ด่านอโศกและด่านประชาชื่นโดยจะลงนามสัญญาที่ 2 ได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายใน 2 ปี หรือมากกว่านั้น
และแม้ว่าการทางฯ จะพยายามจนสุดความสามารถแล้ว แต่ยังไม่สามารถเสนอรายงาน EIA ให้ผ่านเพื่อก่อสร้างโครงการได้ ก็จะถือให้ยึดการต่อสัมปทานในสัญญาที่ 1 เป็นหลักหรือเท่ากับว่า ข้อพิพาททั้งหมดจบลงแล้วเมื่อลงนามสัญญาที่ 1 ซึ่งเอกชนก็ยินดีแต่ก็เชื่อว่า การทางฯ จะสามารถผลักดัน EIA ให้ผ่านได้ รัฐบาลผู้เป็นเจ้าของโครงการ จึงต้องพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ขณะที่ปัจจุบัน BEM มีรายได้จากการเก็บค่าทางด่วนปีละ 7,000 - 8,000 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตรายได้เฉลี่ยปีละร้อยละ 1-3
ส่วนนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้ลดค่าทางด่วน 5-10 บาทนั้น นายพงษ์สฤษดิ์ ระบุว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นคนละเรื่องกับข้อพิพาทต้องมาเจรจากันอีก ขณะเดียวกันที่ผ่านมา BEM ก็ช่วยรัฐบาลสุดความสามารถแล้ว ถือว่าช่วยกันเยอะแล้วในเรื่องของข้อพิพาททางด่วนนี้ เพราะหากยึดตามมูลหนี้จริงรัฐบาลอาจเสียค่าชดเชยมากกว่า 300,000 ล้านบาท