วันนี้ (20 ส.ค.2562) นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับมูลนิธิเมาไม่ขับ พร้อมภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุกว่า 30 คนยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ หลังเกิดเหตุรถตู้ชนรถพ่วงที่ จ.สระแก้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจริง 11 คน บาดเจ็บ 4 คน โดยมีนายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับหนังสือแทน
นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมบ้านบึงที่รถตู้ข้ามไปชนรถปิคอัพ ช่วงช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 จนมีผู้เสียชีวิต 25 คน ทำให้มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ GPS เข้มงวดกับความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. และควบคุมพนักงานขับรถห้ามขับต่อเนื่องเกิน 8-10 ชั่วโมงต่อวันรวมถึงมาตรการจำกัดอายุรถตู้ห้ามเกิน 10 ปี และจะทยอยเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสแทน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดี แต่ล่าสุดมีข่าวว่ากระทรวงคมนาคมได้ยอมถอยอายุการใช้งานรถตู้อีกเป็น 2 ปี และเปลี่ยนมาเป็นมินิบัสแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ในฐานะของผู้เป็นเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุประเทศไทย ระบุว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร มาจากการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ แตกต่างกับมินิบัสที่สามารถทำความเร็วในการแซงได้ช้ากว่ารถตู้ เมื่อเกิดการชนเกิดขึ้น ถังน้ำมันและท่อน้ำมันซึมอยู่ข้างหน้าจะแตก ทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ ผู้โดยสารที่กำลังอยู่ในสภาพที่บาดเจ็บอยู่แล้วจึงไม่สามารถหลบหนีออกจากเปลวเพลิงได้ ขณะที่มินิบัสเมื่อเกิดเหตุผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ภายในมากกว่า จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมทบทวนเรื่องรถตู้สาธารณะ ไม่ควรมีมาตรการที่ถอยหลังลงคลอง
ด้าน น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมรถตู้รับจ้างเอกชนเสียหลักพุ่งชนรถพ่วง 18 ล้อชน ทำให้ผู้โดยสารที่นั่งมาในรถตู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1. มาตรการที่มุ่งเน้นลดอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ดีและควรดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง GPS เพื่อกำกับความเร็วชั่วโมง แต่มาตรการสำคัญควบคู่กันคือ เหตุเกิดเหตุแล้วทำอย่างไรไม่เสียชีวิต ซึ่งการนำรถที่โครงสร้างแข็งแรง ไม่เกิดเพลิงลุกไหม้ง่าย สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้รวดเร็ว จึงเป็นคำตอบที่ไม่ควรจะมองข้าม
2.ในเส้นทางระยะไกล เช่น กทม.-ต่างจังหวัด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรถประจำทางและระบบกำกับที่ปลอดภัย จึงไม่ควรเลื่อนอายุใช้งานจากรถตู้ จาก 10 ปี 12 ปี และไม่ควรเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ มาตรการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารไม่ควรถูกทำให้ถอยหลังหรือยังอยู่กับที่ ควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการตามความเหมาะสมเป็นกรณีกรณีไปเท่านั้น
3. ควรเร่งพัฒนาระบบตรวจสอบประวัติการดูแลรักษาการเปลี่ยนอะไหล่ตามกำหนดมีมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสภาพเข้มงวด มีการตรวจทุก 6 เดือน รวมทั้งการสุ่มตรวจบนถนนด้วย มีการกำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับรถสาธารณะให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขับเร็วทำรอบ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบ และคนขับรถทุกคนอย่างเข้มงวด ไม่มีการละเว้นบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน