วันนี้ (20 ส.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสัตวแพทย์บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เกี่ยวกับขั้นตอนการสตัฟฟ์มาเรียมลูกพะยูนจากเกาะลิบง จ.ตรังว่า ขณะนี้ซากมาเรียมถูกเก็บไว้ในตู้แช่แข็งเพื่อรักษาสภาพซากให้ไม่เน่าเปื่อย โดยมาเรียม ถือเป็นสัตว์ทะเลหายากตัวแรกที่ทางทีมสตัฟฟ์ของ อพวช.จะดำเนินการสตัฟฟ์ จึงต้องเตรียมรายละเอียด และหารือกับผู้เชี่ยวชาญสตัฟฟ์สัตว์น้ำของจากต่างประเทศที่เคยมีการสตัฟฟ์วาฬทั้งตัว สิงโตทะเล เพื่อให้ข้อมูลทางเทคนิคในการสตัฟฟ์สัตว์ทะเล เพราะอยากให้มาเรียมออกมามีสภาพที่สมบูรณ์ และสวยเหมือนกับตอนยังมีชีวิตมากที่สุด
ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์น้ำ จะต้องใช้ความรอบคอบในการสตัฟฟ์สูง เนื่องจากมีความยากของการรักษาสภาพหนังของพะยูน ที่มีไขมันหนามากแทรกอยู่ จึงยากกว่าการสตัฟฟ์สัตว์บกมาก
นายสัตวแพทย์บริพัตร กล่าวว่า เฉพาะขั้นตอนเลาะหนังของมาเรียม และผ่านกระบวนการต้องใช้เวลา 1 เดือน เนื่องจากต้องนำหนังผ่านกระบวนการเพื่อให้ไขมันออกจากหนังให้มากที่สุด หากหนังเปียกเยิ้ม ไม่แห้งจะไม่สามารถขึ้นรูปให้คงสภาพตามที่ต้องการได้ จะเปื่อยยุ่ย ขึ้นราหรือเสียหายได้ง่าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง อพวช.คาด 3 เดือน "สตัฟฟ์มาเรียม" เพื่อความทรงจำ
ระดมทีมสตัฟฟ์ "มาเรียม" วางท่าที่สบายที่สุด
ทั้งนี้ คาดว่าอย่างน้อยคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะกว่าไขมันจะซึมออกจากผิวหนัง กว่าหนังจะพร้อมมาขึ้นรูปตรงนี้ต้องค่อยๆทำ หากรีบเร่งหรือใช้สารเคมีที่รุนแรงมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับผิวหนังจนทะลุ และขนของมาเรียมได้ นอกจากนี้กระบวนการตกแต่ง การเย็บ และการเติมโครงสร้างของมาเรียมในการขึ้นรูปก็ต้องเลือกวัสดุที่เหมาะสม จึงต้องพิถีพิถันมาก
ภาพจำของมาเรียม คงจะมีภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น ท่าดูดครีบ ภาพว่ายน้ำกับเรือแม่ส้ม ภาพกินนม แต่สำหรับนักสตัฟฟ์สัตว์ คิดว่าท่าที่มาเรียมว่ายน้ำ น่าจะเป็นธรรมชาติดีที่สุด
ส่วนของกระดูกมาเรียม จะนำไปต่อขึ้นรูปให้สวยงาม เพื่อใช้ในการแสดงอีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งยังมีแผนที่จะสร้างหุ่นมาเรียมจำลอง เพื่อส่งมอบไปให้พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆทั่วประ เทศได้นำไปตั้งโชว์ให้เยาวชนได้สัมผัส และเรียนรู้ในการต่อยอดด้านการศึกษา ซึ่งจะมีส่วนให้พะยูนมาเรียมอยู่ในความทรงจำของคนไทยต่อไป
สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2562 ที่จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในบริเวณพินิจ พิพิธ-พันธุ์ ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ยังได้รวบรวมสัตว์สตัฟฟ์หลากหลายกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะเสือโคร่งและเสือขาวที่กำลังต่อสู้กัน และยีราฟสูงกว่า 4 เมตรที่สตัฟฟ์เป็นตัวแรกแล้วเสร็จ และนำมาจัดแสดงที่งานนี้ รวมทั้งสัตว์แปลก และสัตว์หายากที่ดองไว้ในโหล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่สูญพันธ์ุไปแล้ว สร้างความดึงดูดให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมงานได้เข้ามาเรียนรู้และศึกษา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศร้า! มาเรียมลูกพะยูนขวัญใจตาย “ช็อก-เจอถุงพลาสติก”