พะยูนมาเรียม ขวัญใจคนไทยที่แม้ว่าจะเพิ่งตายไป แต่ก็มีแนวคิดที่จะสตัฟฟ์มาเรียมเพื่อให้เป็นที่ระลึก และเพื่อเป็นการเรียนรู้และปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการทิ้งขยะพลาสติก ลงสู่ทะเลที่กลายเป็นอีกสาเหตุที่คร่าชีวิตมาเรียม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายวันชัย สุขเกษม นักสตัฟฟ์สัตว์ ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่จะทำหน้าที่สตัฟฟ์มาเรียม บอกเล่าถึงวิธีการสตัฟฟ์สัตว์และเสน่ห์ที่ทำให้เขาทำหน้าที่ชุบชีวิตสัตว์ที่ตายแล้วกลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง
จุดเริ่มต้น "สตัฟฟ์สัตว์"
จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2554 นายพิชัย สนแจ้ง อดีตผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์มาอบรมการสตัฟฟ์สัตว์ให้กับเจ้าหน้าที่ โดยตนเองเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่เคยสตัฟฟ์สัตว์มาก่อน จากนั้นก็เริ่มมีความสนใจ เพราะงานสตัฟฟ์สัตว์มีประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป โดยใช้เผยแพร่ และให้ความรู้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป และสัตว์ที่สตัฟฟ์เสร็จแล้วก็จะกลายเป็นสมบัติของชาติ และใช้ในเรื่องของการศึกษาวิจัยในเรื่องต่าง ๆ ได้
สัตว์สตัฟฟ์ที่ผมทำเมื่อเห็นเด็กให้ความสนใจ ก็ทำให้ผมเกิดกำลังใจที่จะสตัฟฟ์สัตว์ต่อไปเรื่อย ๆ
"สัตว์เล็ก-ใหญ่” ยาก-ง่าย ต่างกัน
นายวันชัยเล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ได้ผ่านการสตัฟฟ์สัตว์มาแล้วหลายชนิดทั้ง เสือ ยีราฟ ช้าง ม้าลาย สัตว์ขนาดใหญ่ไปจนถึงสัตว์ขนาดเล็กเช่นนก ก็ได้ผ่านการสตัฟฟ์มาหมดแล้ว ซึ่งสัตว์แต่ละตัวก็มีความยาก-ง่ายแตกต่างกัน เช่น นกจะค่อนข้างง่ายเพราะสารเคมีที่ใช้ก็ไม่ค่อยยุ่งยาก โดยขั้นตอนคือการเลาะเนื้อ เก็บหนังและขนเอาไว้จากนั้นปั้นหุ้นขึ้นมา ขณะที่หนังรักษาสภาพโดยใช้แอลกอฮอล์และป้องกันแมลงโดยแช่สารเคมีประมาณ 45 นาที จากนั้นขึ้นตัวซึ่งหากเป็นนกตัวเล็กก็ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน นกก็จะแห้งสนิทสามารถนำมาจัดแสดงได้
แต่ถ้าหากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่นกวาง ก็จะมีกระบวนการฟอกหนัง ซึ่งเป็นการรักษาสภาพหนังเพื่อป้องกันไม่ให้เน่า ซึ่งค่อนข้างดีกว่าในอดีตที่เราใช้ฟอร์มาลีน การฟอกหนังจะดีเรื่องการขจัดคราบไขมันที่อยู่ในขน และขนจะสมบูรณ์มาก
การสตัฟฟ์ขึ้นท่าทางจะใช้วิธีการปั้น ไม่ใช้วิธีการยัดนุ่น ยัดสำลี เหมือนแต่ก่อน โดยปั้นเป็นท่าทาง กล้ามเนื้อ ซึ่งค่อนข้างที่จะได้สัตว์ที่มีสรีระวิทยา ท่วงท่าที่เหมือนกับธรรมชาติมากที่สุด ตาก็จะใช้ตาที่เหมือนจริง โดยจะสั่งซื้อจากต่างประเทศเพราะในประเทศไทยยังไม่มี แต่ในบางกรณีที่ในต่างประเทศไม่มีก็จะต้องทำตาขึ้นมาเอง โดยใช้เรซิ่นเพนต์สีขึ้นมา เช่นดวงตาของปลาพระอาทิตย์ (Sunfish)
เสมือนได้ชุบชีวิตสัตว์
นายวันชัยเล่าเพิ่มเติมว่า เสน่ห์ของการสตัฟฟ์สัตว์ก็คือ เหมือนกับการได้ชุบชีวิตสัตว์ตัวหนึ่งที่ตายไปแล้ว หรือดูเหมือนไม่มีประโยชน์แล้วให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง และเราได้กลายเป็นคนที่ทำให้หลายคนได้ใกล้ชิดสัตว์ ซึ่งหลายคนอาจไม่มีโอกาสได้เห็นสัตว์บางชนิดในระยะใกล้ๆ
เขายังอธิบายว่า ขั้นตอนและระยะเวลาในการสตัฟฟ์สัตว์ยังแตกต่างกันโดยหากเป็นการสตัฟฟ์นกจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน ต่อนก 1 ตัว โดยการสตัฟฟ์นกจะต้องระวังในขั้นตอนของการเลาะเนื้อ หากเลาะไม่ดีเนื้อก็จะขาด ก็จะเสียเวลาในการซ่อมหนังหรือเย็บหนัง และเมื่อเสร็จเป็นตัวแล้วที่ยากสุดคือการจัดขนให้เข้าที่ ถ้าขนอยู่ผิดตำแหน่งก็จะไม่สวยเหมือนกับธรรมชาติ
ขณะที่สัตว์ขนาดใหญ่ เช่นก่อนหน้านี้ทีมงานได้ทำเสือ 2 ตัว ในท่าทางต่อสู้กัน ยีราฟ นกแร้ง โดยมีการสตัฟฟ์เสือใช้เวลากว่า 2 เดือน ในการทำเสือ 1 ตัว ซึ่งใช้เวลาในการปั้นหุ่นประมาณ 1 สัปดาห์ ถอดพิมพ์ ทำพิมพ์ ทำเป็นหุ่นโฟม ขัดพิมพ์ บางครั้งก็เจออุปสรรคเช่น เมื่อถอดพิมพ์แล้วพิมพ์มีขนาดใหญ่ ก็ต้องมาปรับขนาดหุ่น แก้หุ่น กว่าจะได้แต่ละตัวจึงค่อนข้างใช้เวลานาน
ขณะที่การสตัฟฟ์ช้างจะค่อนข้างพิเศษ โดยจะไม่ใช้ดินเหนียวปั้นแต่จะขึ้นโครงจากปูนปลาสเตอร์เลย โดยปั้นปูนสดให้ขึ้นมาเป็นรูปช้างเลย โดยใช้งานด้านช่างไม้มาช่วยในการทำด้วย
ทั้งนี้ ในแต่ละวันจะเริ่มทำงานตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 – 17.00 น. ซึ่งการทำสัตว์สตัฟฟ์ เช่นนกควรทำให้เสร็จภายใน 1 วัน หากเกิน 1 วันก็จะไม่ดี หากเป็นนกขนาดใหญ่ซึ่งไม่มีสถานที่เก็บก็ต้องเร่งทำ โดยแบ่งเวลาในแต่ละขั้นตอนให้เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น ใช้เวลาเลาะหนังและวัดขนาด 1 วัน จากนั้นอีก 1 วันจะเป็นการปั้นหุ่น และเก็บเศษเนื้อที่อยู่กับหนัง วันที่ 3 จะเป็นวันที่เริ่มปั้นหุ่นและใส่หุ่น และวันที่ 4 เย็บ และวันที่ 5 อาจจะเย็บต่อและจัดขน และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
ขั้นตอนเก็บรักษาสัตว์เพื่อสตัฟฟ์
กระบวนการเก็บรักษาสัตว์หลังจากที่ตายแล้วมีความสำคัญมาก เช่น นก เมื่อนกตายและจะเก็บต้องรู้ว่านกตัวนั้นไม่เป็นโรคที่ติดต่อสู่คน จากนั้นเก็บนกใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด อย่าให้อากาศเข้าเก็บไว้ในตู้แช่แข็งอุณหภูมิลบ 18 องศาเซลเซียส
ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ใช้วิธีการคล้ายกันคือใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น แช่ที่อุณหภูมิลบ 18 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิลบ 18 องศาเซลเซียสจะช่วยฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อลดความเสี่ยงของคนทำ