วันนี้ (22 ส.ค.2562) นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เปิดเผยถึงกรณีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพฉลามหูดำถูกหั่นเป็นชิ้นและวางขายที่เกาะลันตา จ.กระบี่ ว่า คาดว่าเป็นฉลามหูดำกลุ่มเดียวกับที่พบบริเวณอ่าวมาหยาและเกาะห้อง ซึ่งเคยมีรายงานว่าพบฉลามหูดำประมาณ 100 ตัว เนื่องจากอยู่ห่างจากเกาะลันตาประมาณ 20 กิโลเมตร จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกชาวประมงจับได้และนำไปวางขาย
สำหรับฉลามหูดำและฉลามอีกหลายชนิดยังไม่ได้เป็นสัตว์คุ้มครอง โดยเฉพาะฉลามหัวค้อน และฉลามเสือดาว ที่จำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันฉลามที่ได้รับการคุ้มครองมีเพียงชนิดเดียว คือฉลามวาฬ
เขาให้เหตุผลที่ยังไม่คุ้มครองว่าคนไม่ได้ตั้งใจจับฉลาม ติดมาเอง ซึ่งสัตว์ทะเลกับสัตว์ป่าแตกต่างกัน ซึ่งการล่าสัตว์ป่าจะเป็นการล่า อย่างเสือดำ แต่สัตว์ทะเล เขาไม่ได้ตั้งใจล่า แต่ติดมากับเครื่องมือประมงเอง
ส่วนการจับสัตว์ทะเลในเขตอุทยานทางทะเลนั้น ทำไม่ได้และผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ว่าเขตอุทยานจะอยู่เฉพาะพื้นที่แค่เกาะห้อง ส่วนพื้นที่รอบๆ ไม่ใช่พื้นที่อุทยาน แม้กระทั่งเกาะลันตาก็เป็นเขตอุทยานแค่นิดเดียว นอกจากนี้ แม้ว่าทะเลกระบี่จะเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีรายชื่อฉลามเป็นสัตว์ห้ามจับ แต่การกำหนดขนาดว่าไม่เกิน 50 เซนติเมตร ทำให้การจับฉลามขนาดใหญ่กว่าที่กำหนดไว้ จึงไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมายเช่นกัน
เดินหน้าผลักดันฉลามเป็นสัตว์คุ้มครอง
นายธรณ์ กล่าวว่า จะเดินหน้าผลักดันให้ฉลามทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง โดยเบื้องต้น เตรียมเสนอแก้ประกาศที่จะออกทุก 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนดอีกครั้งในปี 2563 โดยจะเสนอห้ามจับฉลามทุกขนาดในพื้นที่คุ้มครอง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการวิจัยฉลาม โดยเฉพาะ จ.กระบี่ ที่มีรายงานฉลามหูดำมากที่สุดในประเทศไทยด้วย ซึ่งได้ติดต่อนักวิจัยระดับโลกไว้เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ฉลามถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากเป็นสัตว์ในกลุ่มนักล่าชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารเช่นเดียวกันกับเสือ ซึ่งฉลามหูดำจะช่วยควบคุมปริมาณปลาบางชนิดที่อาจมีมากเกินไป ส่วนที่มีรายงานพบฉลามหูดำมากในอ่าวมาหยาและเกาะห้อง เนื่องจากมีสภาพเป็นอ่าวปิดและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ซึ่งในประเทศไทยมีสภาพแบบนี้เพียงไม่กี่แห่ง
ทช.เตรียมเสนอทบทวนคุ้มครองฉลามหูดำ
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า การคุ้มครองฉลามเป็นสัตว์สงวนมีเพียงฉลามวาฬเพียง 1 ชนิด ส่วนฉลามชนิดอื่นๆ ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ยกเว้นในบริเวณพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จะมีมาตรการอนุรักษ์ฉลาม โดยกำหนดที่ขนาดต้องไม่เล็กกว่า 50 เซนติเมตร หรือลูกฉลาม เพราะกังวลว่าอาจะมีการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ จึงเน้นกลุ่มลูกฉลามในแนวปะการัง
ส่วนกรณีที่เป็นข่าวในโซเชียลเรื่องการจับฉลามหูดำและนำมาชำแหละวางขายที่เกาะลันตา ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบ และอาจจะต้องมีการทบทวนว่าตัวขนาด 50 เซนติเมตรว่ายังมีความเหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกัน กรมประมงก็กำลังเร่งผลักดันแผนอนุรักษ์ฉลามที่ในน่านน้ำไทยมีหลากชนิดเพิ่มเติม
กลไกอนุรักษ์สัตว์ทะเลต้องปรับใหม่ให้เหมาะสมกับชนิด การแพร่กระจายกว้าง รวมทั้งภัยคุกคามติดเครื่องมือประมงแบบไม่ตั้งใจ แต่ที่ประชาชนสามารถเริ่มได้ทันทีไม่ต้องรอกฎหมาย คือช่วยกันรณรงค์ หยุดกินหยุดซื้อฉลามทุกชนิด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พบฝูง "ฉลามหูดำ" โผล่หน้าหาดอ่าวมาหยา คาดเข้ามาผสมพันธุ์
ไม่พบ "ฉลามหูดำ" อ่าวมาหยาถูกล่า
ฮือฮา! "ฝูงฉลามหูดำ" โผล่หน้าอ่าวมาหยาหลังปิดเกาะฟื้นฟู
ข่าวดี! ปิด "อ่าวมาหยา" 4 เดือน ฉลามหูดำโผล่-ปะการังฟื้นตัว