ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เจษฎ์" ชี้ "ไพบูลย์" เลี่ยงบาลีทางกฎหมาย ยุบพรรค-ย้ายค่าย

การเมือง
22 ส.ค. 62
17:43
5,649
Logo Thai PBS
"เจษฎ์" ชี้ "ไพบูลย์" เลี่ยงบาลีทางกฎหมาย  ยุบพรรค-ย้ายค่าย
อดีตที่ปรึกษา กรธ. ระบุ "ไพบูลย์" ใช้ช่องว่างกฎหมายยุบพรรคตัวเอง-ย้ายซบพรรคใหม่ หวั่นพรรคอื่นเลียนแบบ ขัดเจตนา รธน. ป้อง ส.ส. ควบรวมพรรค-ย้ายพรรคระหว่างสมัย

ผศ.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นเลิกกิจการพรรค และเตรียมไปสังกัดพรรคอื่น ว่า การกระทำของนายไพบูลย์ เป็นการเลี่ยงบาลีทางกฎหมาย เท่ากับเป็นความไม่เป็นธรรมภายในกฎหมายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมี ส.ส. ที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่รัฐธรรมนูญตั้งใจจะคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. กรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบโดยกลไกรัฐธรรมนูญหรือกรณีที่ถูกพรรคการเมืองกลั่นแกล้ง

เช่น กรณีศาลสั่งยุบพรรคหรือพรรคถูกยุบโดยกลไกอื่น รัฐธรรมนูญต้องการคุ้มครองเอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส. เพราะเห็นว่า ส.ส. ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หรือกรณีที่ผู้มีอำนาจของพรรคการเมืองบังคับให้ ส.ส. กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหาก ส.ส.ไม่ยอมทำตาม อาจถูกกลั่นแกล้งโดยการใช้ "ข้อบังคับ" ของพรรค ในการยุบเลิกกิจการพรรค จนทำให้ ส.ส. พ้นสภาพ ดังนั้นจึงคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. ให้ย้ายพรรคได้

แต่กรณีของนายไพบูลย์ เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ1 มีคะแนนกว่า 4 หมื่นคะแนน ได้เข้ามาเป็น ส.ส. ในสภาฯ แต่กลับใช้ "ข้อบังคับ" ของพรรค ยื่นเลิกกิจการพรรคการเมืองหรือยุบพรรค แล้วย้ายพรรคภายใน 60 วัน ตามเงื่อนไข มาตรา 91 (7) พ.ร.บ.พรรคการเมือง และมาตรา 101 (10) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์จากการยุบพรรค

รัฐธรรมนูญเขียนไว้เพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. แต่กลับมีคนอาศัยช่องว่างนี้เพื่อประโยชน์ตัวเอง

รศ.เจษฎ์ กล่าวว่า แนวทางจากนี้ กกต. อาจเป็นผู้ตัดสิน หรือยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นไปได้ 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 คือการตีความกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยนายไพบูลย์ ไม่ควรได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. เพราะตามเจตนารมรณ์รัฐธรรมนูญ ต้องการคุ้มครอง ส.ส. กรณีที่พรรคถูกยุบ เพราะศาลสั่งยุบ หรือกรณีผู้มีอำนาจในพรรคใช้ขอบังคับยุบพรรคเพื่อบีบ ส.ส. แต่กรณีของนายไพบูลย์ ยื่นเลิกกิจการพรรคเอง และตั้งใจเลี่ยงบางลีทางกฎหมายเพื่อเป็นข้ออ้างย้ายพรรค

ดังนั้นเมื่อตีความตามแนวทางนี้ จะเท่ากับนายไพบูลย์ไม่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์ โดยพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ยื่นเลิกกิจการพรรคก็จะยุบไป แต่นายไพบูลย์จะไม่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. เท่ากับว่านายไพบูลย์ ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.

แนวทางที่ 2 เป็นแนวทางที่ยืดหยุ่น เพราะอาจเห็นว่ากฎหมายมีช่องว่างให้ทำได้ คือนายไพบูลย์ สามารถย้ายไปอยู่พรรคใหม่
แต่คะแนนกว่า 4 หมื่นคะแนน ของพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ทำให้นายไพบูลย์ได้เป็น ส.ส. จะไม่ถูกนำไปนับรวมกับคะแนนของพรรคนั้น เท่ากับนายไพบูลย์เป็น ส.ส. ที่ไม่ใช่ ส.ส.เขต และไม่ใช่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

ส่วนกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีนี้ (นับจากวันเลือกตั้ง) เป็นเหตุให้ต้องมีการคำนวณคะแนนใหม่ คะแนนกว่า 4 หมื่นคะแนน ของพรรคประชาชนปฏิรูป จะต้องอยู่ในตารางคำนวณ เสมือนว่าพรรคประชาชนปฏิรูปยังอยู่ เพื่อไม่ให้เสียระบบในการคำนวณคะแนน

อย่างไรก็ตาม หากมีการตีความไปในแนวทางที่ 2 เกรงว่าพรรคเล็กที่มี ส.ส. แต่ได้คะแนนน้อย จะเลือกทำตามแนวทางของนายไพบูลย์ เพราะเมื่อได้ ส.ส. แล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียต้นทุนในการบริหารจัดการพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นอีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง