ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา (ตอน 1)

ภูมิภาค
6 ก.ค. 67
17:58
1,425
Logo Thai PBS
การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา (ตอน 1)
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยกับเมียนมามีประวัติศาสตร์การค้าขายกันมายาวนาน ซึ่งการค้าขายระหว่างกันตั้งแต่สมัยโบราณผ่านเส้นทางการค้าต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อสองประเทศ และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นระบบจุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

การค้าชายแดนเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ตั้งแต่มีโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ตั้งแต่ปี 2535 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา, จีน, ลาว, เมียนมา, ไทย และเวียดนาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงระบบคมนาคมขนส่งระหว่างอำเภอชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยให้การค้าระหว่างสองประเทศสามารถทำได้อย่างคล่องตัว จนกลายเป็นระบบจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ปัจจุบัน การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ในพื้นที่ภาคเหนือที่น่าจับตามอง มีอยู่ 3 พื้นที่ ได้แก่:

1. อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
2. จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3. อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

แต่เหตุการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นมานานนับทศวรรษ ล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการค้าชายแดนประเทศไทย มามองในมุมของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อเรื่องนี้กัน

การค้าชายแดนที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ปัจจุบัน การสู้รบในพื้นที่ตัวเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ด้านฝั่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้ยุติลงแล้วนานกว่า 2 เดือน โดยกองทัพเมียนมาสามารถยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายต่อต้านบริเวณตัวเมืองเมียวดีได้ทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ การสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลกับ KNU และ PDF ทำให้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ฝั่งจังหวัดเมียวดี ถูกยึด ส่งผลให้การค้าชายแดนหยุดชะงักลง แต่ปัจจุบันการค้าชายแดนได้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ซึ่งช่วงการสู้รบ ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก การส่งออกต้องอาศัยทางเรือหรือท่าข้ามเอกชนผ่านทางแม่น้ำเมยเท่านั้น ทำให้การส่งออกชะงักไปร้อยละ 90 โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 ลดลงเหลือ 3,000 – 4,000 ล้านบาท จาก 7,000 – 10,000 ล้านบาทต่อเดือน

แม้ว่าการค้าชายแดนผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังภาวะสงครามในจังหวัดเมียวดีเสร็จสิ้น รถขนส่งสินค้ามุ่งหน้ามาที่ด่านผ่านแดนนี้จำนวนมากเพื่อรอนำสินค้าข้ามไปยังเมียนมาตามปกติ แต่พบว่ามีผลกระทบ แม้ในตัวเมืองเมียวดีจะไม่มีการสู้รบ แต่เส้นทางลำเลียงสินค้าภายในเมียนมายังคงได้รับความเสียหายจากถนนและสะพานที่ถูกระเบิด

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก

บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก และผู้ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด กล่าวว่าการสู้รบในตัวเมืองชั้นในเมียนมายังไม่มีท่าทีจะสงบในเร็ววันนี้ ภาคธุรกิจที่ส่งออกต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นเพราะเส้นทางถนนหลักสาย AH 1 ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ต้องใช้เส้นทางเดิมที่มีสภาพชำรุดและเดินทางยากลำบากในช่วงฤดูฝน รวมถึงการเก็บค่าผ่านทางจากกลุ่มกองกำลังต่าง ๆ ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ผู้ประกอบการบางส่วนหันไปส่งสินค้าผ่านจังหวัดระนองหรือจังหวัดเชียงรายแทนการขนส่งผ่านอำเภอแม่สอดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ดังนั้นรัฐบาลไทยควรเป็นตัวกลางในการเจรจากับทุกฝ่ายในเมียนมา เพื่อหาทางออกและสร้างพื้นที่ปลอดสงครามสำหรับการขนส่งสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในอนาคต เพราะเส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดียได้อีกด้วย

สถิติสินค้านำเข้าและส่งออก ณ ด่านศุลกากรแม่สอด ปีงบประมาณ 2567
สินค้านำเข้า 10 อันดับ:
1. แร่พลวง
2. พริกแห้ง
3. พลวงที่ไม่ได้ขึ้นรูป
4. เศษอลูมิเนียมเก่า
5. ตะกั่วบริสุทธิ์ 99.97%
6. มันสำปะหลัง
7. พริกสด
8. กะหล่ำปลี
9. ชุดสายไฟรถยนต์
10 .อวนทำจากวัตถุดิบไนล่อน

มูลค่ารวมสิ่งของนำเข้า 4,118,633,716.25 บาท

สินค้าส่งออก 10 อันดับ:
1. น้ำมันดีเซล
2. โทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์
3. น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
4. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
5. เม็ดพลาสติก
6. น้ำมันเบนซิน
7. รถจักรยานยนต์
8. ผ้าพิมพ์ฝ้าย 100%
9. โลชั่นบำรุงผิว
10. นมถั่วเหลือง

มูลค่ารวมสินค้าส่งออกจากไทย 46,571,305,378.79 บาท

จะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้านับสิบเท่า การค้าชายแดนอำเภอแม่สอด ด้านนี้ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ

การค้าชายแดนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเมียนมาทุกอำเภอ และติดกับประเทศเมียนมาทั้งหมด 3 รัฐ คือรัฐคะยา รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ทำให้การค้าชายแดนฝั่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ตลอดตามแนวชายแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดผ่อนปรนทางการค้า 5 จุด ได้แก่:

1. จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านห้วยผึ้ง อยู่ในเขตพื้นที่บ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน – บ้านนามน รัฐฉาน ระยะทางจากจุดผ่อนปรนถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน 54 กิโลเมตร
2.จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านน้ำเพียงดิน อยู่ในเขตพื้นที่บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 3 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน - บ้านใหม่ รัฐคะยา ระยะทางจากจุดผ่อนปรนถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน 32 กิโลเมตร

3.จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านห้วยต้นนุ่น อยู่ในเขตพื้นที่บ้านห้วยต้นนุ่น หมู่ที่ 4 ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม – บ้านน้ำมาง รัฐคะยา ระยะทางจากจุดผ่อนปรนถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน 100 กิโลเมตร
4.จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านเสาหิน อยู่ในเขตพื้นที่หมู่บ้านเสาหิน หมู่ที่ 1 ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง–บ้านห้วยทราย รัฐคะยา ระยะทางจากจุดผ่อนปรนถึงอำเภอแม่สะเรียง 92 กิโลเมตร ในฤดูแล้งใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ฤดูฝนใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-12 ชั่วโมง

5.จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านแม่สามแลบ อยู่ในเขตพื้นที่บ้านแม่สามแลบ หมู่ที่ 1 อำเภอสบเมย–จังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ระยะทางจากจุดผ่อนปรนถึงอำเภอแม่สะเรียง 56 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

หลังจากเกิดเหตุการรัฐประหารในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนและเมืองหลัก ๆ ของเมียนมา ทำให้หน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการค้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขาดการติดต่อและไม่มีการเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้าอย่างสิ้นเชิง ทำให้การนำเข้า ส่งออกสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่องปัจจุบัน จุดผ่อนปรนทั้ง 5 จุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้ ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศเมียนมาทั้งหมด

ชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นางสาวชนเขต บุญญขันธ์ ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัจจุบัน การค้าผ่านแดนในฝั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่การสู้รบ ทำให้จุดผ่อนปรนในปัจจุบันส่งออกสินค้าด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะจุดหลัก ๆ คือจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น เพราะปัจจุบันชุมชนที่อยู่ในรัฐคะยาได้ถูกทำลายลงจากสงคราม ส่งผลให้การค้าชายแดนฝั่งนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ชาวบ้านฝั่งเมียนมาต้องหนีภัยสงครามไปอยู่ที่อื่น แม้บางส่วนจะยังคงอยู่ในพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้านและเมืองขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่มีเงินเพียงพอในการสั่งซื้อสินค้าฝั่งไทย ปัจจุบันจึงส่งได้แค่สินค้าอุปโภคและบริโภคไปเท่านั้น ขณะที่จุดผ่อนปรนบ้านห้วยผึ้งที่ติดต่อกับรัฐฉาน ยังพอขนส่งสินค้าได้ แต่ก็ไม่ได้มากนัก เนื่องจากเส้นทางขนส่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบเช่นกัน

ดังนั้น หอการค้าแม่ฮ่องสอนเองก็ต้องการให้รัฐของไทยเข้ามาเป็นคนกลางในการพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ใช่เพียงเพราะการค้าและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อประชาชนชาวเมียนมาด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีชาวเมียนมาตามรัฐต่าง ๆ อพยพไปอยู่ตามป่าเขาติดกับชายแดนไทยเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน มูลค่าการค้ารวมจังหวัดแม่ฮ่องสอนในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2566 เท่ากับ 622.38 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 320.92 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 301.46 ล้านบาท ดุลการค้าสะสม 19.40 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 พบว่ามูลค่าการค้ารวมลดลง 820.52 ล้านบาท จากมูลค่าการส่งออกลดลง 102.70 ล้านบาท รวมถึงมูลค่าการนำเข้าลดลง 717.72 ล้านบาท และดุลการค้าเพิ่มขึ้น 614.92 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 103.27 (ในช่วงเดียวกันของปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 1,442.90 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 423.72 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 1,019.18 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 595.47 ล้านบาท)

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ติดตามตอนอื่น :
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341037
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341334
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341061
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340824
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341289
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341316
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341774
https://fb.watch/tb2HUjHqfN/
https://fb.watch/tb2x0fv5PX/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง