วันนี้ (23 ส.ค.) นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ชี้แจงกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า แต่ละปีกรมท่าอากาศยานได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ปีที่ผ่านมาประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 90 เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ เพราะต้องจ้างบุคคลากร แต่เงินที่มาจากค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร แต่ละปีเก็บได้ประมาณ 800 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งมาจากท่าอากาศยานกระบี่
งบประมาณนี้สามารถนำมาปรับปรุงท่าอากาศยานในกรณีเร่งด่วนที่ตั้งงบไม่ทัน ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาบริหารจัดการได้ รวมถึงนำมาจ้างบุคลลากรให้ทันกับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เติบโต และที่สำคัญคือการต้องนำเงินมาหล่อเลี้ยง 28 สนามบินที่เหลือ หากนำสนามบินกระบี่ไปก็จะกระทบกับการบริหารจัดการ สนามบินที่มี และสนามบินที่กำลังจะเปิดให้บริการโดยเฉพาะสนามบินใหม่ เช่น มุกดาหาร บึงกาฬ และสนามบินเบตงที่จะเปิดให้ใช้บริการปีหน้า ซึ่งอาจจะจะไม่มีเงินจ้างเรื่องการทำความสะอาด การรักษาความปลอดภัยพร้อมเสนอว่า จะต้องใช้วิธีการให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อความโปร่งใส และเกิดประโยชน์กับประเทศสูงที่สุด
ยอมรับว่ากังวลหากต้องโอนย้ายท่าอากาศยานกระบี่ไปให้ ทอท. เพราะปัจจุบันทย.มีสนามบิน 28 แห่งกระจายทุกแห่งทั่วภูมิภาค แม้จะเป็นสนามบินเล็กๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แต่ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมก็คิดในราคาต่ำ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการขนส่งทางอากาศ แต่ถ้าต้องโอนย้าย ทย. ก็คงต้องทบทวน เพราะเราคงไม่สามารถซ่อมบำรุง ต้องลดระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และไม่สามารถจัดหาบุคลากร ความปลอดภัยให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยตาม กพท. กำหนด
ปัจจุบันสนามบินกระบี่สร้างรายได้ให้กรมท่าอากาศยานอันดับ 1 มีผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านคน เฉพาะค่าธรรมเนียมสร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาท ซึ่งพรบ.การเดินอากาศฉบับใหม่อนุญาตให้ ทย.นำรายได้จากผู้โดยสารขาออก และสามารถนำค่าขึ้นลงอากาศยาน มาดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียนนอกเหนือจากการพึ่งงบของรัฐ
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทย. พร้อมเข้าไปหารือตามที่ รมว.คมนาคม สั่งการ ซึ่งขณะนี้กำลังจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับท่าอากาศยานกระบี่ในทุกด้าน และพร้อมนำเสนอในสัปดาห์หน้า แต่ขอดูข้อเสนอของ ทอท. ก่อนว่าเป็นอย่างไร
ทอท. ชี้แจงเหตุเปลี่ยนแผนโอน 4 สนามบิน ยันพร้อมลงทุน 12,000 ล้านบาทไม่ใช้งบรัฐ
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่าสาเหตุที่เปลี่ยนแผนการรับโอน 4 สนามบินมาเป็น บุรีรัมย์ กระบี่ ตาก และอุดรธานี เพราะนโยบายของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาความแออัดทางอากาศ ขณะที่การพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ 2 และสนามบินภูเก็ต 2 อาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 7 ปีกว่าจะเปิดให้บริการได้
สาเหตุที่ต้องเลือกสนามบินกระบี่ เพราะเป็นสนามบินเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาความแออัดที่สนามบินภูเก็ต เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากกันมาก สามารถเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารได้
ส่วนสนามบินบุรีรัมย์ เพราะต้องการวางตำแหน่งเป็นสนามบินอีสานใต้คู่กับสนามบินอีสานเหนือคือ อุดรธานี แต่สนามบินสกลนคร พบว่ามีปัญหาไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมปีละ 3 เดือน และไม่มีเขื่อนรับน้ำรอบสนามบินเหมือนกับที่อื่น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการวางแผนทำตลาด เพราะไม่สามารถการันตีให้สายการบินได้ว่าจะสามารถลงจอดได้ตลอดปี จึงพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ ซึ่งมีผู้โดยสารปีละ 200,000-300,000 คนแทน
ทอท. พร้อมเดินหน้าลงทุนวงเงิน 12,000 ล้านบาท ให้กับทั้ง 4 สนามบิน โดยจะใช้เงินลงทุนของทอท. เข้าไปดำเนินการแทนเงินงบประมาณรัฐ ตามแผนที่กรมท่าอากาศยานวางไว้ได้แก่ การพัฒนารันเวย์สนามบินกระบี่วงเงิน 6,000 ล้านบาท และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินบุรีรัมย์ วงเงิน 750 ล้านบาท รวมถึงลงทุนติดตั้งอุปกรณ์สนามบินอุดรธานี 1,500 ล้านบาท เป็นต้น
หลังจากนี้จะเสนอผลการศึกษาการรับโอน 4 สนามบิน ไปยังกระทรวงคมนาคม คงต้องรอดูว่ากระทรวงคมนาคมจะเห็นชอบตามแผนนี้หรือไม่
นักวิชาการเสนอพิจารณาการโอนย้ายให้รอบคอบหวั่นผูกขาด
นายนวทัศน์ ก้องสมุทร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วิธีคิดหรือวิธีการพัฒนาของ ทอท. เน้นในภาคของธุรกิจภาคของรายได้ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พาณิชย์มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนของผู้โดยสารเพิ่มคุณภาพการบริการ
ส่วนทย.เองก็ต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาก็พยายามพึ่งพาตัวเองเป็นกองทุนหมุนเวียน แต่ถ้าสนามบินกระบี่ถูกถูกย้ายออกไป ก็จะกระทบเพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมมากถึงร้อยละ 50 ทย.ก็อาจระส่ำระส่ายในการบริหาร นอกจากนี้ รูปแบบของกรมท่าอากาศยาน อาจจะทำให้การแก้ปัญหา การพัฒนาเป็นไปได้ช้า อย่าลืมว่าทอท.มีหุ้นเอกชนร้อยละ 30 ไม่ได้เป็นรัฐทั้งหมด หากโอนย้ายให้ทอท.ดูแลก็อาจจะต้องมีขอบเขตเวลาชัดเจนไม่ใช่ว่าให้ไปตลอดอายุโดยไม่มีการกำหนด
มุมมองผมเองยังยังยังมีความเป็นห่วงมากขึ้นด้วยซ้ำว่า จะทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ท่าอากาศยาน 2 ท่าหลักอยู่ในความดูแลของหน่วยงานเดียว มันจะทำให้ขาดการแข่งขัน ซึ่งม.เกษตรเคยทำผลการศึกษาและพบว่าแม้แต่สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ไม่ควรจะให้ทอท.ดูแล เพราะปัจจุบันภูเก็ต ที่ทอท.บริหารอยู่ก็มีรายได้ ที่มีระดับกำไรที่ดีพอสมควร
รมว.คมนาคมยืนยัน ศึกชิงสนามบินต้องจบสัปดาห์หน้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงประเด็นการโอน 4 สนามบินภูมิภาคที่ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับแผนใหม่ ได้แก่ สนามบินกระบี่,สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี ซึ่งต่อมา ทย. ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยในการส่งมอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. โดยสัปดาห์หน้าจะเรียก ทย. และทอท.หารือร่วมกัน โดยจะให้มีการเสนอเหตุผลมาให้พิจารณา
ให้มาคุยด้วยเหตุผลกัน ว่าอะไรคือสิ่งดีที่สุดในเรื่องที่จะพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ในประเทศ ส่วนประเด็นที่ ทย.ที่เป็นห่วงเกี่ยวกับงบประมาณที่สนามบินกระบี่มีส่วนช่วยในผลประกอบการภาพรวมก็จะต้องมีการมาหารือร่วมกัน ซึ่งทาง ทอท.ก็พร้อมที่จะเข้าสนับสนุนกองทุนแต่ก็จะต้องมาหารือกันอีกครั้ง แต่มองว่าต่างคนต่างมีเหตุผล ก็เอาเหตุผลให้มาคุยกัน ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด