จากกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และเสียชีวิตเมื่อเวลา 04.00 น. วานนี้ (25 ส.ค.2562) หลังรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู 35 วัน ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ยังติดใจสาเหตุของการเสียชีวิต
วันนี้ (26 ส.ค.2562) นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ออกแถลงการณ์ทางการแพทย์โดยเล่าอาการที่นำไปสู่การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ แต่ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่นำไปสู่อาการ และทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ส่วนกรณีที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4สน.) ได้ออกมาระบุว่า นายอับดุลเลาะมีอาการปอดติดเชื้อ เป็นเพียงอาการปลายเหตุ
ชี้กรรมการตรวจสอบฯ ตอบสังคมไม่ได้
ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ ตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพ ไม่สามารถให้คำตอบกับสาธารณะได้ ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญและคำถามง่าย ๆ ว่า นายอับดุลเลาะ ถูกควบคุมตัวเมื่อเย็นวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีการตรวจร่างกาย พบว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดย กอ.รมน.ให้ข้อมูลว่ามีการสอบสวนจนถึงเวลา 21.00-22.00 น. จากนั้นเวลา 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า อับดุลเลาะนอนหมดสติอยู่ในห้องควบคุมตัว
สิ่งที่คณะกรรมการสอบสวน ควรมีคำตอบให้กับสังคมและครอบครัวของผู้เสียชีวิต คือ กระบวนการซักถามสอบสวนเกิดขึ้นด้วยวิธีใดถึงทำให้คนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงหมดสติได้ และอาการสมองขาดออกซิเจนเกี่ยวข้องกับการหมดสติหรือไม่ อย่างไร
นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในค่ายทหารขนาดใหญ่และเป็นค่ายที่มีความสำคัญ แต่กลับบอกว่ากล้องวงจรปิดในศูนย์ซักถามใช้งานไม่ได้เลย อีกทั้งคณะกรรมการฯ ไม่ได้ระบุว่ามีการบันทึกข้อมูลกระบวนการควบคุมตัวและซักถามด้วยวิธีการอื่น ๆ นอกจากภาพจากกล้องวงจรปิด โดยผ่านมานาน 35 วัน ก็ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคม จนครอบครัวของนายอับดุลเลาะ ชาวมุสลิมจำนวนมากในพื้นที่ และองค์กรสิทธิมนุษยชน เกิดความคลางแคลงใจว่า คณะกรรมการดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ความจริงปรากฎและอำนวยให้เกิดกระบวนการยุติธรรม
หากกล้องวงจรปิดใช้งานไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีการบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการอื่น ว่ากระบวนการซักถามเกิดขึ้นอย่างไร และผู้ถูกซักถามมีสภาพอย่างไร
จี้ตั้งกรรมการอิสระ
ฮิวแมนไรต์วอตช์ เรียกร้องให้ยกระดับการตรวจสอบทันที โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการอิสระ ที่มีศักยภาพและองค์ประกอบที่หลากหลายมากกว่าคณะกรรมการฯ ที่กองทัพจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลหลักฐานการควบคุมตัวและการสอบสวนนายอับดุลเลาะได้ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เทปบันทึกเสียง ภาพถ่าย และการตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษที่ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการตั้งข้อหา และขอให้ใช้กฎหมายปกติ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีขั้นตอนชัดเจนในเรื่องการคุมครองสิทธิตามมาตรฐานสากล เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่านายอับดุลเลาะมีความผิดอะไร
หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ นายอับดุลเลาะจะต้องถูกควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึก 7 วัน ต่ออีก 30 วันด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และต่ออายุไปได้เรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีการตั้งข้อหา ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจสุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความน่าเชื่อถือของกองทัพ และความหวาดระแวงระหว่างชุมชนกับกองทัพ
ต้องตอบได้ว่าสภาพของอับดุลเลาะขณะถูกสอบสวนเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาไม่มีการให้ข้อมูลกับสังคมเลย