ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แทมมี่บอกคนไทย “ใจเย็นๆ ประชาธิปไตยไทยกำลังเติบโต”

การเมือง
27 ส.ค. 62
09:00
754
Logo Thai PBS
แทมมี่บอกคนไทย “ใจเย็นๆ ประชาธิปไตยไทยกำลังเติบโต”
พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา จากพรรคเดโมแครต กลับไทยอีกครั้ง พร้อมฝากข้อคิดถึงคนไทย ให้ใจเย็นกับการเติบโตของประชาธิปไตย

ทันทีที่วีลแชร์คันหนึ่งเข้ามาในห้องแถลงข่าว ที่ศูนย์ American Hub สถานทูตสหรัฐฯอเมริกา บรรยากาศก็ดูเคร่งขรึมขึ้น ตรงหน้าของสื่อมวลชน 6 สำนัก คือ พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา จากพรรคเดโมแครต ที่มาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากไปทำหน้าที่แม่ลูก 2 ในขณะนี้ลูกคนเล็กอายุได้ 15 เดือน

เธอยิ้ม จนทำให้บรรยากาศดูผ่อนคลายได้มาก ดิฉันคิดว่าเธอน่าจะทราบว่า วันนี้สื่อที่มาไม่ได้เป็นสายข่าวต่างประเทศทั้งหมด เธอจึงตั้งใจที่จะคุยภาษาไทยให้มากที่สุด ออกตัวว่าเรียนภาษาไทยถึงแค่ ป.3 อาจจะไม่แข็งแรง แต่ทุกคำพูดของเธอมันช่างมีพลัง

 

แทมมี่ เล่าว่า เธอได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า โปรดให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระปฏิสันถารถึงความคืบหน้าด้านการแพทย์ที่น่าสนใจ เธอไปบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ และอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และได้พบกับประธานสภา ประธานรัฐสภา ตัวแทน สส. และ สว. และได้พบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ร่วมยินดีกับรัฐบาลไทย หลังเลือกตั้งสำเร็จ

ดิฉันรู้สึกว่าคนไทยหายใจโล่งขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น หลังการเลือกตั้งจบลงด้วยดี ดิฉันคิดว่าคนไทยพร้อมจะเดินหน้าต่อ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจ ดูแลครอบครัว ความไม่มั่นใจลดลงกว่าเดิม
อยากให้คนไทยใจเย็นๆ ดิฉันเห็นว่าประชาธิปไตยที่นี่กำลังเติบโตก้าวหน้า

 

อยากจะยกตัวอย่างอเมริกา หลังเรามีประชาธิปไตย เรามีสงครามการเมือง ฆ่ากันเอง ประเทศแตกแยก แต่สำหรับที่นี่ยังห่างไกลกับสิ่งนั้น และฉันเข้าใจดีกับคนที่ผิดหวัง อยากเห็นประชาธิปไตยไปข้างหน้าไวๆ แต่อย่ากดดันตัวเอง ฉันเห็นคนที่มีความหลงใหลในประชาธิปไตย นั่นคืออนาคตของประเทศ

ในสหรัฐฯ วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง แทมมี่ อดีตทหารผ่านศึกลูกครึ่งไทย-อเมริกัน สามารถเอาชนะใจคนในรัฐอิลินอยส์ ซึ่งเป็นรัฐใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ เป็นทั้ง สส. และ สว. สร้างประวัติศาสตร์โดยเป็นวุฒิสมาชิกหญิงคนแรกของประเทศที่คลอดบุตรขณะดำรงตำแหน่ง อะไรคือสิ่งที่เธอคิดว่า ทำให้มาถึงจุดนี้ได้

สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคนใช้ของประชาชน ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Public Servant

“คนที่ลืมหลักคิดว่า ข้าราชการเป็นผู้รับใช้คนธรรมดา จะไม่ประสบความสำเร็จในการรับใช้รัฐ , ประเทศ หรือแม้แต่หมู่บ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงคนธรรมดาทุกๆ คนนะคะ”

 

 

“การเป็น ส.ว. ต่างจาก ส.ส. เพราะ ด้วยจำนวน 100 คน มีระยะเวลาทำงานสมัยละ 6 ปี ก็เลยทำให้มีอำนาจมากกว่า ส.ส.ที่มี 435 คน เรามีหน้าที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า รัฐจะต้องทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น การใช้เงินเพื่อสร้างสาธารณูปโภค การดูแลรัฐสวัสดิการต่างๆ”

“สิ่งที่ภูมิใจ คือ การทำงานร่วมกันทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน สามารถผ่านกฎหมายภายใต้ยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ได้”

แต่มันก็มีสิ่งที่เธออึดอัดใจ เพราะการเป็นส่วนน้อยในสภา ทำให้ไม่สามารถโหวตกฎหมายสำคัญๆ เช่น กฎหมายอาวุธปืน ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นนับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในฝั่งพรรครีพับริกัน ซึ่งเธอมองว่า นี่คือความล้มเหลวของนักการเมือง

เธอบอกว่า รัฐบาลคือ หน้าตาของประเทศ ความหมายคือ ในประเทศๆ หนึ่งมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่มีโอกาสในทางการเมือง ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เธอเปรียบมันว่า

If you not on the table then you are on the menu
ถ้าไม่มีโอกาสนั่งบนโต๊ะ (มีอำนาจตัดสินใจ) ก็จะกลายเป็นเมนู ถูกกลืนกินไปในที่สุด

 


เธอบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกๆ ประเทศควรเพิ่มสัดส่วนนักการเมืองจากคนที่มีความหลากหลาย แตกต่าง โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งมีผลการศึกษาในสหรัฐฯ ยืนยันว่า ช่วยประนีประนอมและผลักดันร่างกฎหมายสำคัญๆได้สำเร็จมากกว่าผู้ชาย

เธอยังบอกว่า ประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีหญิงแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีหญิง

แน่นอนว่าในเวลานี้ นักการเมืองหญิงในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายใด มีความท้าทายมากมาย ดิฉันก็เลยถามเธอว่า การที่เธอเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เป็นอดีตทหารผ่านศึก เป็นผู้พิการ เป็นผู้หญิง มีส่วนเสริมงานการเมืองอย่างไร และดีต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอย่างไร

“ทุกด้านๆ ช่วยให้ดิฉันเป็น สว. ที่ดีมากขึ้น”

ก่อนที่จะเป็นแม่ ดิฉันทำงานกับคนพิการ ทหารผ่านศึก แต่พอเป็นแม่ก็รู้สึกว่าดีไม่พอ ดิฉันได้ผลักดันกฎหมายให้ทุกสนามบินในสหรัฐฯ ต้องมีห้องให้นมลูก

ที่ผ่านมาคุณแม่ทั้งหลายจะถูกผลักให้ไปให้นมในสุขา ซึ่งมันสกปรก

ดิฉันได้ร่างกฎหมายที่ดูแลทหารที่เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ดิฉันเป็น 1 ใน 100 สว.ที่มีความรู้เรื่องอินโด-แปซิฟิกมากที่สุด แน่นอนว่าถึงจะดูไกล แต่เดี๋ยวจะพา ส.ว. คนอื่นๆมา เพราะอินโดแปซิฟิก คือ ความมั่นคงของสหรัฐฯ และ จะต้องผลักดันความร่วมมือกันอย่างแน่นอน

และนี่คือภาพสะท้อน การเมืองไทย และความสำคัญของไทย ในสายตาวุฒิสมาชิกสหรัฐฯที่มีเชื้อสายไทยคนแรก

พรวดี ลาทนาดี รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง