ชาวประมงไทยเราต้องมาคอยหวาดผวาทั้งที่ทำมาหากินในท้องทะเลบ้านตัวเอง ทุกคืนออกทำประมงต้องกลับเข้ามานอนฝั่ง ไม่มีใครกล้าลอยทะเลหลายๆวัน กลุ่มประมงต่างด้าวเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เป็นศพลอยติดฝั่งก็หลายคน ที่หายไปก็หลายคน
นี่เป็นเสียงสะท้อนจากชาวประมงพื้นบ้านภาคตะวันออก ถึงปัญหาชาวต่างชาติลักลอบทำประมงในเขตการประมงไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีทั้งการข่มขู่คุกคาม บางคนสูญหายไประหว่างออกเรือทำประมงกับชาวประมงต่างชาติ หลายเหตุการณ์ทำให้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดผวา
ศพนิรนามในทะเลตะวันออก
29 มีนาคม 2562 มีผู้พบศพชายนิรนาม ในทะเลห่างจากเกาะหวาย พื้นที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราดประมาณ 3 กิโลเมตร
31 มีนาคม 2562 ชาวประมงพบศพชายนิรนาม ลอยมาติดกับแพเลี้ยงหอยในทะเล ห่างจากสะพานบ้านแหลมเทียน ตำบลอ่าวใหญ่ ราว 500 เมตร สภาพศพไม่สวมเสื้อ ใส่กางเกงขาสั้น มีเชือกมัดเอวผูกกับอิฐตัวหนอนด้วยสายเอ็นตกปลา บริเวณไหล่ขวามีรอยสักรูปดอกกุหลาบและผีเสื้อ
4 เมษายน 2562 พบศพชายนิรนาม ลอยในทะเลห่างจากสะพานท่าเรือแหลมศอก พื้นที่สถานีตำรวจภูธรอ่าวช่อ จังหวัดตราด ประมาณ 4 ไมล์ทะเล ศพถูกห่อด้วยที่นอน พันรอบตัวด้วยผ้าใบผูกเชือกอย่างแน่นหนา มีรอยสักลายบริเวณหัวไหล่ข้างขวา
ทั้งสามศพถูกพบในทะเลพื้นที่จังหวัดตราดในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ตำรวจให้ข้อมูลเบื้องต้นคาดว่า ทั้งหมดถูกฆาตกรรม เนื่องจากมีการอำพรางศพด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งตรวจพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต แต่มีหนึ่งศพที่เจ้าหน้าที่สามารถ ระบุตัวตนหลังจากเปรียบเทียบลายนิ้วมือจนพบข้อมูลประวัติทะเบียนอาชญากรรรมในฐานระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังมีรอยสักที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ญาติติดต่อขอดูศพ โดยพบว่า ผู้ตายเป็นชาวประมงชุมชนก้นปึก ตำบลปากน้ำ จังหวัดระยอง
นางลดาวัลย์ ฉั่วสวัสดิ์ น้องสาวของผู้เสียชีวิต บอกว่า ผู้ตายชื่อนายไกรวุฒิ ประจง มีร่างกายไม่สมบูรณ์แขนขาลีบ มีอาชีพเป็นชาวประมง ก่อนเสียชีวิตเขารับจ้างเป็นไต๋เงา ไปกับเรือประมงพื้นบ้านชนิดเบ็ดลากหมึกพร้อมกับชาวกัมพูชาอีกคนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นไต้ก๋งเรือและเป็นผู้ทำประมงตัวจริง หลังจากออกเรือไปทำประมงประมาณ 3 วัน เจ้าของเรือกลับไม่สามารถติดต่อคนทั้งคู่ได้ กระทั่งมีผู้พบศพนายไกรวุฒิที่จังหวัดตราด
เธอเชื่อว่าพี่ชายถูกฆาตกรรม เนื่องจาก ศพถูกมัดกับอิฐตัวหนอนถ่วงน้ำ ขณะที่ ข้อมูลเบื้องต้นจากแพทย์นิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุสาเหตุว่า น้ำท่วมปอด บ่งชี้ว่า นายไกรวุฒิน่าจะจมน้ำตาย และ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ข่าวคราวของชาวประมงสัญชาติกัมพูชาที่ออกทะเลไปด้วยกัน
หาคนไทยเป็นไต้ก๋งเรือออกทำการประมงพื้นบ้านยากขึ้น เจ้าของเรือเบ็ดลากหมึกหลายลำต้องจ้างชาวกัมพูชาออกทำประมง แถมยังต้องจ้างคนไทยอีกหนึ่งคนลงเรือทำหน้าที่ไต๋เงา คอยสลับตำแหน่งคนบังคับเรือ กรณีมีเจ้าหน้าที่มาตรวจการณ์ เสียเงินซ้ำซ้อนแต่ก็ต้องทำแบบนี้กันหมด
ปัญหาไต้ก๋งต่างชาติบานปลาย
เป็นเพราะหาคนไทยเป็นไต้ก๋งเรืออกทำประมงพื้นบ้านยากขึ้น เป็นเหตุผลที่นางลดาวัลย์ ฉั่วสวัสดิ์ เจ้าของเรือประมงพื้นบ้านหลายลำ อ้างถึงความจำเป็นต้องจ้างชาวต่างชาติออกทำประมง โดยจ้างคนไทยอีกหนึ่งทำหน้าที่ไต๋เงา คอยสลับตำแหน่งคนบังคับเรือ กรณีมีเจ้าหน้าที่มาตรวจการณ์
ต้นเดือนเมษายน 2562 เจ้าหน้าหน้าที่หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลชลบุรี กองตรวจการประมง กรมประมง เคยเข้าตรวจเรือประมงพื้นบ้านขนาด 3 ตันกรอสชนิดเบ็ดลากหมึก ชื่อ ต.เจริญนำโชค ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือ 3 ลำ ของนางลดาวัลย์ และ จับไต้ก๋ง ข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือประมงในเขตการประมงไทย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.2482 โทษปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท
ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านชุมชนก้นปึกปากน้ำระยอง บอกว่า กรณีชาวประมงสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำประมงเอง ทั้งรูปแบบเป็นเจ้าของเรือ หรือเป็นลูกจ้างของผู้ประกอบการเรือประมงพื้นบ้านทำหน้าที่บังคับเรือ โดยมีคนไทยที่มีใบอนุญาตถือท้ายเรือเป็นไต๋เงานั่งไปด้วย กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดทะเลตะวันออกของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
มีเสียงสะท้อนจากกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเกี่ยวกับปัญหานี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ
14 พฤษภาคม 2562 กลุ่มชาวประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมตัวยื่นหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีกรมประมงให้เร่งแก้ปัญหาชาวต่างชาติทำการประมงผิดกฎหมายไทย กรณีมีชาวต่างชาติออกเรือประมงพื้นบ้านทำหน้าที่เป็นไต้ก๋งทำการประมงเอง และว่าจ้างคนไทยนั่งในเรือเพื่อคอยสลับตำแหน่ง สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงไทยทั้งแย่งอาชีพและทำให้สูญเสียทรัพยากรรวมทั้งโอกาสการทำประมงในทะเลไทย
นอกจากนั้นยังเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายไม่ให้มีชาวต่างชาติอยู่บนเรือประมงพื้นบ้านชนิดเครื่องมือเบ็ดลากหมึก พร้อมกับเพิ่มบทลงโทษหากฝ่าฝืน
กองตรวจการประมง กรมประมง รับเรื่องร้องเรียนนี้ และ ทำความเข้าใจถึงแนวทางแก้ปัญหากับกลุ่มประมงพื้นบ้าน
นายสรเมษ ชโลวัฒนะ หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลชลบุรี ที่ร่วมประชุมในวันนั้น ยอมรับว่า การ จับกุมต้องเป็นไปในลักษณะกระทำผิดซึ่งหน้า ส่วนการเชิญตัวมาสอบสวนตามวิธีการปกติเพื่อให้รับสารภาพเป็นไปได้ยาก
มันเกี่ยวกันกฎหมายหลายฉบับ บางฉบับที่เขากลัวคือโดนส่งกลับ เราพยายามฟ้องทุกข้อกล่าวหา มันมีอยู่อันหนึ่งไม่ใช่กฎหมายของเรา แต่เราไปร้องทุกข์กล่าวโทษใน พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารจัดการคนต่างด้าว มาตรา 8 ลูกจ้างถ้าทำงานนอกสิทธิที่พึงกระทำได้ หลังจากเสียค่าปรับแล้วโดนส่งกลับด้วย
28 พฤษภาคม 2562 ชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ยื่นหนังสือต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขอให้สลักหลังในบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว ไม่ให้ทำการประมงในเรือประมงพื้นบ้าน ชนิดเบ็ดลากหมึกและอวนรุนปู ไม่ว่าจะอ้างเป็นแรงงานประมงก็ตาม โดยให้เหตุผลว่า เป็นการทำงานเกินสิทธิ์ที่พึงกระทำได้ พวกเขาเชื่อว่า หากกระทรวงแรงงานระบุชัดเจน จะสามารถแก้ปัญหาชาวประมงต่างชาติลักลอบออกทำการประมงในเรือประมงพื้นบ้านได้ และ ยังลดปัญหาการจ้างไต้ก๋งคนไทยให้ไปนั่งในเรือเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ได้อีกทางหนึ่ง
ขอให้กรมแรงงานบังคับเลยว่า ไม่ให้ต่างด้าวอยู่ในเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ห้ามทำประมงประเภทนี้ลากหมึก หรือ อวนปูขนาดเล็กชายฝั่ง เพราะว่าอวนปูขนาดเล็กชายฝั่งก็มีทำ มีความผิด จะอยู่ในเรือไม่ได้ ถ้าอยู่ในเรือเป็นความผิดเลย
พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.2482 ระบุว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตสำหรับทำการประมงให้แก่คนต่างด้าว และ อนุญาตให้คนต่างด้าวเป็นคนประจำเรือ หรือลูกเรือทำการประมงได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้ควบคุมเรือ
คนต่างด้าวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเรือ มีโทษปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท