วันนี้ (27 ส.ค.2562) สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 2 ปีนี้ โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวน 2,009 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-26 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยตัวอย่างร้อยละ 54.80 เป็นหญิง และร้อยละ 45.20 เป็นชาย จำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่าร้อยละ 7.32 เป็นเจเนอเรชั่น Z หรือตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี, ร้อยละ 11.90 เป็นเจเนอเรชั่น M หรือตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี, ร้อยละ 22.25 เป็นเจเนอเรชั่น Y หรือตัวอย่างที่มีอายุ 25-35 ปี, ร้อยละ 30.16 เป็นเจเนอเรชั่น X หรือตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี และร้อยละ 28.37 เป็นเจเนอเรชั่น B หรือตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี
ผลสำรวจในเดือน ส.ค.นี้ ในภาพรวมพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ร้อยละ 65.18, ไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 55.15 และรู้สึกหมดกำลังใจ ร้อยละ 40.13 ซึ่งอาจส่งผลทำให้ความสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยถดถอยลงได้ในที่สุด และเมื่อพิจารณาความเครียดในแต่ละด้าน พบว่าคนที่มีความเครียดจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะคนที่มีความเครียดเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ร้อยละ 88.32, รู้สึกหมดกำลังใจ ร้อยละ 85.80 และไม่อยากพบปะผู้คน ร้อยละ 83.85
ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดเรื่องสภาพเศรษฐกิจ มากกว่าเรื่องอื่นๆ ร้อยละ 73.07 จากปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน รายรับไม่พอกับรายจ่าย ค่าครองชีพสูง รองลงมาคือ เรื่องการงาน ร้อยละ 48.68 ได้แก่ ปริมาณและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ความมั่นคงและความก้าวหน้าในงานที่ทำ, ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 48.11 ได้แก่ ปัญหาการจราจร รถติด ปัญหาขยะ เสียงดัง น้ำเสีย ตลอดจนความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัย พบว่าคนไทยตั้งแต่วัยทำงาน จนถึงวัยชรา ต่างมีความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจมาเป็นอันดับ 1 แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายต่างๆ แต่จากสภาพความเป็นจริงที่คนไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันและก๊าซที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ปรับขึ้นราคา ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
สำหรับวิธีปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาเมื่อตนเองรู้สึกเครียดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน และเรื่องสภาพแวดล้อม จากผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้จ่ายอย่างประหยัด โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น และมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ เป็นต้น ส่วนความเครียดเรื่องการงานนั้น จะตั้งใจทำงาน รับผิดชอบหน้าที่ให้ดีที่สุด หาอาชีพเสริมหรือหางานพิเศษทำ พยายามปล่อยวาง ทำใจยอมรับความเป็นจริง มีสติ และหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข รวมถึงหางานอดิเรก เป็นต้น