ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดห้องแล็บเพาะ “ยุงติดเชื้อ” มาลาเรียไวแว็กซ์ ต่อยอดวัคซีนต้าน

Logo Thai PBS
เปิดห้องแล็บเพาะ “ยุงติดเชื้อ” มาลาเรียไวแว็กซ์ ต่อยอดวัคซีนต้าน
เปิดแล็บเพาะยุง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างยุงต้านเชื้อ “มาลาเรีย” ที่ยังพบการระบาดอยู่ในหลายภูมิภาคของโลก รวมทั้งไทย หวังเป็นฐานผลิตยุง ส่งออกทั่วโลก เพื่อทดสอบวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ กลายพันธุ์ดื้อยา

วันนี้ (28 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเจตสุมน สัตตบงกช หัวหน้าโครงการวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจห้องแล็บเพาะเลี้ยงยุงที่มีเชื้อมาลาเรีย สำหรับทดสอบวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ที่มีปัญหากลายพันธุ์ดื้อยา ภายใต้โครงการ Malaria Infection Study in Thailand : MIST หลังสถานการณ์มาลาเรียทั่วโลกยังวิกฤต โดยมีคนเป็นไข้มาลาเรียมากกว่า 200 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเกือบ 400,000 คน ที่ตายด้วยไข้มาลาเรีย

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน จำลองสภาพห้องแล็บให้เหมาะสมกับการเจริญพันธุ์ของยุง เพื่อเพาะเลี้ยงยุงส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นต้นตอทดสอบวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยมากที่สุด โดยพบว่ากว่าครึ่งของผู้ป่วยมาลาเรียในไทยป่วยจากเชื้อชนิดนี้ ซึ่งแม้ไม่อันตรายรุนแรงถึงชีวิต แต่ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเชื้อชนิดเรื้อรัง ถึงรักษาหายแล้วแต่ก็กลับมาเป็นซ้ำอีกหลายครั้ง


สำหรับเชื้อไวแว็กซ์จะมีการกลายพันธุ์และพัฒนาเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ก่อนจะพัฒนาเพื่อฝังตัวในตับ ซึ่งยาอาร์ติมิซินินที่ใช้ฆ่าเชื้อมาลาเรียจะออกฤทธิ์เฉพาะในกระแสเลือดจึงไม่มีผลต่อเชื้อไวแว็กซ์ ส่วนยาไพรมาควินที่ใช้กำจัดเชื้อไวแว็กซ์ระยะแฝงตัวในตับก็มีผลข้างเคียงสูงต่อผู้ป่วยบางกลุ่ม และต้องกินยาติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและกำจัดโรคมาลาเรียในภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศไทย

คัดยุงสายพันธุ์แกร่ง-ผลิตวัคซีน

การเพาะเลี้ยงยุงสำหรับวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์จึงเกิดขึ้น โดยใช้ "ยุงก้นปล่องชนิดไดรัส" ซึ่งถูกส่งมาจาก ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่เคยเป็นพื้นที่ระบาดของมาลาเรียมาก่อน เพื่อนำมาขยายพันธุ์ในห้องทดลอง โดยยุงที่นำมาเลี้ยงจะเป็นยุงตัวเมียที่ผสมพันธุ์แล้ว เพราะเป็นยุงที่กินเลือดตามธรรมชาติหลังผสมพันธุ์ ก่อนที่จะวางไข่ 

ในกลุ่มที่ทำงานวิจัยไวแวกซ์ ทีมวิจัยไทยเป็นกลุ่มเดียวที่ได้เลือดคนไข้ ที่มีเชื้ออยู่ให้มาโตในยุง แล้วนำเชื้อในยุงไปทดลองในตับคน ซึ่งเป็นกระบวนการในห้องทดลอง โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ จะทำให้ได้ยุงที่มีคุณภาพ


สำหรับห้องแล็บของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน สามารถเพาะเลี้ยงยุงติดเชื้อได้สูงถึงสัปดาห์ละ 40,000 ตัว ยุงที่ผลิตได้เป็นยุงที่มีสมรรถภาพในการดูดเลือดและการติดเชื้อดี มีอัตราการตายต่ำหลังได้รับเชื้อมาลาเรีย และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีมาตราฐาน เพื่อให้พร้อมต่อการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนตลอดเวลา รวมถึงการศึกษาการแพร่ระบาด การผลิตสปอโรซอยต์จำนวนมากเพื่องานวิจัยทางด้านยา

ส่งออกยุงไทยทดลองในแล็บต่างประเทศ

ส่วนกระบวนการตรวจเลือดคนไข้ที่มีเชื้อมาลาเรียไวแวกซ์ สำหรับเพาะเชื้อในยุงนั้น จะต้องคัดเลือกคนไข้ที่มีแต่เชื้อไวแวกอย่างเดียวไม่มีเชื้ออย่างอื่น เมื่อยุงไปกินเลือดแล้ว จะทำให้ยุงนั้นติดเพียงเชื้อไวแวกซ์เท่านั้น โดยยุงที่ทำการทดลองในแล็บ จะนำส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งโคลัมเบีย ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา 


โดยปัจจุบันที่สหรัฐฯ มีแล็บ  2- 3 แห่งที่มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์อยู่ ซึ่งก่อนส่งออกจะต้องมีการทำเอกสารว่า สามารถนำยุงซึ่งมีเชื้อเข้าประเทศได้ โดยยุงในห้องทดลองนี้ขึ้นเครื่องบินได้นานถึง 70 ชั่วโมง ไปยังห้องแล็บที่สหรัฐฯ โดยไม่ตายสักตัว เพราะแล็บไทยมีกระบวนการแพ็กอย่างดี

ในแต่ละล็อตขึ้นอยู่กับการทดลองจะนำไปใช้ทำอะไร ถ้าใช้ในห้องทดลองเคยส่งมากสุด 800 ตัว แบ่งเป็นกล่องละ 100 ตัว 

สำหรับยุงทุกตัวที่ส่งออกจะต้องมีเชื้อมาลาเรียอยู่ เมื่อเข้าไปถึงห้องเลี้ยงยุงที่แล็บแล้ว บางล็อตอาจต้องเลี้ยงอีก 1-2 วัน ให้เชื้อโตไปที่ต่อมน้ำลาย เพราะยุงเวลากินเชื้อมันจะไปโตที่กระเพาะยุงก่อน เมื่อยุงกัดพ่นน้ำลายเชื้อก็ถูกพ่นออกมาด้วยเช่นกัน โดยขั้นตอนการส่งออกยุงไปต่างประเทศนั้น ต้องขอนุญาตไม่เอกซเรย์ยุงเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบยุง ซึ่งต้องทำหนังสือขออนุญาต ซึ่งมีสายการบินเดียวที่ไม่ต้องขออนุญาตจึงทดลองส่งไป 2 ล็อต แต่ต้องส่งใต้เครื่อง ซึ่งทำให้ยุงตายทั้งหมดเพราะมีเรื่องของอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้อง กว่าจะสามารถหากระบวนการที่ถูกต้องส่งไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยุงรอดทุกตัวก็ต้องใช้เวลาพอสมควร


ทั้งนี้ การศึกษาทั่วโลกในโครงการ MIST หรือการศึกษาการติดเชื้อในคน การศึกษานี้เหมือนเป็นการสร้างโมเดลของการศึกษาเพื่อประเมินผลวัคซีนไวแวกซ์ โดยประเทศไทยได้เริ่มกระบวนการตั้งแต่ได้ยุงที่ติดเชื้อไวแวกซ์ที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้ทดลองในคนได้ นำไปสู่การทดสอบวัคซีนที่เริ่มโชว์ประสิทธิภาพ ในห้องทดลองร่วมของไทยและผู้วิจัยที่อังกฤษหรือสหรัฐฯ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสของทีมวิจัยทั่วโลกในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนต่อโรคไวแวกซ์ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นวัตกรรม “ฟาสต์แทร็ก” ย่นเวลาพัฒนาวัคซีน สู้ “มาลาเรีย”

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง