วันนี้(31 ส.ค.2562)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการตรวจสอบ “โครงการอาหารกลางวัน” รร.วัดวงเดือน ต.สามง่ามท่าโบสถ์ อ.หันคา จ.ชัยนาท ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยืนยันว่า มีครู 3 คนทำเรื่องขอย้ายออกไปอยู่ที่โรงเรียนอื่น และ ครูอีก 1 คนทำเรื่องขอลาออกจากราชการ ในจำนวนนี้มีครูที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบคุณภาพอาหารของเด็กนักเรียนด้วย
สอบสวน"ผอ.โรงเรียนวัดวงเดือน" ไม่พบทุจริต
นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษา สพฐ. ในฐานะชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดเผยกับทีมข่าว ThaiPBS ว่า หลังนายสุเทพ สิงห์สม ผอ.โรงเรียนวัดวงเดือน ถูกสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท ได้สอบสวนการทำหน้าที่ ระหว่างดูแลโครงการอาหารกลางวันแล้วเมื่อวสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุ น.ส.อ้อมอารีย์ แข็งฤทธิ์ หรือ "ครูอ้อม" ร้องเรียน เบื้องต้นไม่พบว่า ผอ. มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตจัดซื้อวัตถุดิบทำอาหาร ส่วนแม่ครัวมีหลักฐานยืนยันว่าจัดซื้อของและใช้เงินคุ้มค่าตามจำนวนคือ 2,080 บาท แต่ยังไม่สามารถนำแสดงต่อสาธารณชนได้
ปัญหาที่พบหลังตรวจสอบหลักฐาน คือ การเซ็นเอกสารของกรรมการชุดดูแล “โครงการอาหารกลางวัน” ที่มีครูฝ่ายธุรการ รร.วัดวงเดือนเป็นกรรมการ พบการเซ็นรับทราบเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบและทำเมนูอาหารไม่ครบถ้วน คือ เซ็นบ้าง ไม่เซ็นบ้างในบางวัน ทำให้ต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะครู 1 ใน 4 คนที่ขอย้ายและขอลาออกมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย
สพฐ. ชี้ เมนูอาหารกลางวัน รร. เปลี่ยนแปลงได้
ส่วนที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ตั้งข้อสังเกตว่า แม่ครัวที่ได้รับการว่าจ้างให้จัดซื้อและจัดทำอาหาร ทำไม่ตรงตามเมนูที่ติดไว้ในโรงครัว นายธีร์ คณะกรรมการชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง บอกว่า เมนูอาหารที่ขึ้นไว้บนกระดานของทุกโรงเรียนถูกคำนวณผ่าน โปรแกรม Thai School lunch เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ถ้าโรงเรียนเมนูไปจากเดิม หากวัตถุดิบหายาก หรือ ราคาสูงเกินไป สามารถทำเมนูอื่นทดแทนกันได้ แต่ต้องทำรายละเอียดชี้แจงไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯให้รับทราบ ซึ่งกรณีอยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการทำตามขั้นตอนหรือไม่