ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.เปิดใช้สะพานข้ามแยกเพชรบุรี-อโศก

สังคม
3 ก.ย. 62
17:41
2,799
Logo Thai PBS
กทม.เปิดใช้สะพานข้ามแยกเพชรบุรี-อโศก
กทม.เปิดใช้งานสะพานข้ามแยกเพชรบุรี-อโศกแล้ว หลังปิดปรับปรุงนาน 6 เดือน เตรียมเสนอของบประมาณซ่อม 3 สะพานข้ามแยกเพิ่มเติม

วันนี้ (3 ก.ย.2562) นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการเปิดสะพานข้ามแยกถนนเพชรบุรีตัดใหม่-ถนนรัชดาภิเษก อโศก หรือสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรี ซึ่งเปิดใช้งานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลังปิดปรับปรุงนาน 6 เดือน เนื่องจากพบการชำรุดหลายส่วนจากการใช้งานมานานกว่า 40 ปี

กทม.ได้ซ่อมแซมครั้งใหญ่ ทั้งส่วนของคานเหล็กค้ำยันสะพาน ตอม่อ เสาเหล็ก ผิวจราจร ปรับปรุงผิวจราจร พื้นสะพาน ติดตั้งโครงสร้างพื้นสะพานใหม่ ปรับปรุงรอยต่อเผื่อขยาย ราวสะพาน ระบบไฟฟ้า การระบายน้ำ และงานส่วนอื่นๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงมั่นคงและยืดอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น

 

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า เดิมสะพานข้ามแยกแห่งนี้รับน้ำหนักได้เพียง 20 ตัน แต่หลังปรับปรุงได้เสริมน้ำหนักเพื่อรองรับปริมาณรถได้มากถึง 25 ตัน ส่วนการจัดระบบการจราจรจะประสานตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกตามสถานการณ์ในแต่ละวัน เชื่อว่าหลังเปิดให้บริการปริมาณการจราจรโดยรอบของถนนเพชรบุรีจะดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการก่อสร้าง ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยง

สำหรับสะพานดังกล่าวเป็นโครงสร้างเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 420 เมตร กว้าง 8.80 เมตร ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519


กทม.ยังมีแผนปรับปรุงสะพานข้ามแยกเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีสะพานข้ามแยกที่ กทม.ดูแลทั้งหมด 65 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสะพานที่ก่อสร้างมานาน และยังไม่เคยปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงดำเนินการเพียงบำรุงรักษาตามสภาพเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอของบประมาณประจำปี 2563 แต่ไม่ได้ จึงให้สำนักการโยธาขอจัดสรรงบประมาณระหว่างปีเพื่อซ่อมบำรุง เบื้องต้นจะดำเนินการ 3 แห่งก่อนคือ สะพานศรีอุดม, สะพานบางพลัด และสะพานพระราม 9 ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท


ทั้งนี้ การซ่อมแซมบำรุงสะพานข้ามแยกแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพราะบางแห่งมีโครงสร้างเป็นตัวเหล็ก บางแห่งเป็นคอนกรีตผสม ที่ผ่านมาการสำรวจของสำนักการโยธาประเมินจากสายตาภายนอก แต่เรื่องของโครงสร้างว่าจะทรุดตัวหรือ แตกร้าวนั้นดูได้ยาก ซึ่งตามปกติตามหลักวิชาการจะมีรอบปีที่ต้องบำรุงดูแลการรักษา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง