วันนี้ (4 ก.ย.2562) ครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อพรรรคอนาคตใหม่ โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช และ พล.ท.พงศกร รอดชมพู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ รับเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายอับดุลเลาะ และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ภาพร่องรอยการบาดเจ็บในร่างกายของนายอับดุลเลาะทั้งรอยคล้ายถูกช็อตด้วยไฟฟ้าและรอยถลอกที่ถ่ายไว้ 2 วัน หลังการถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษในค่ายทหารและรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 วันก่อนเสียชีวิต ซึ่งน่าสงสัยว่า อาจถูกทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานในขณะที่อยู่ในค่าย 12 ชั่วโมง
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดนายอับดุลเลาะที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัย แต่เมื่อออกจากการคุมตัวในค่ายทหารกลับมีอาการสมองขาดออกซิเจน ซึ่งกองทัพชี้แจงว่าเป็นการล้มในห้องน้ำแต่สวนทางกับข้อมูลที่แพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์วินิจฉัยเหตุการเสียชีวิตเพราะสมองขาดเลือด
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือคำร้องของญาติระบุข้อสงสัยและเรียกร้องขอคำชี้แจงดังนี้คือ 1.เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ในระหว่างที่อับดุลเลาะถูกคุมตัวไว้ 12 ชั่วโมง แลเมื่อออกจากค่ายกลับมีสภาพที่สมองขาดออกซิเจน 2.ให้ข้อมูลเวชระเบียนโรงพยาบาลทั้งหมดที่ไม่มีการแก้ไข กรณีการส่งตัวนายอับดุลเลาะแก่ญาติตามร้องขอ ทั้งจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
3.มีข้อมูลวิจัยจากเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีฯ รายงานสถานการณ์การซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในระหว่างปี 2547-2557 หรือ 10 ปี มีผู้ถูกทรมาน 54 คนที่เป็นชาวมลายูในปัตตานี สะท้อนว่า “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” คือรูปแบบของคนที่รัฐต้องสงสัยว่าเป็นตัวการ พร้อมตั้งคำถามว่าไทยลงนามให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมตั้งแต่ปี 2530 แต่ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและการสูญหายยังไม่สามารถประกาศใช้ เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมพลักดันกฎหมายนี้
4. เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ และขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นกลางจากต่างประเทศ ตรวจสอบการซ้อมทนมานที่เกิดในไทย เริ่มจากกรณี “อับดุลเลาะ”
ส่วน พล.ท.พงศกร กล่าวย้ำว่า กฎหมายพิเศษในพื้นที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานเพราะการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจมีการใช้ความรู้สึกส่วนตัวผ่านกระบวนการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ก่อนจะย้ำว่าในการดำเนินการต่อผู้ต้องสงสัยนั้นต้องคำนึงว่าเป็นประชาชน ไม่ใช่ศัตรู ซึ่งหากทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวเคียดแค้นปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ก็จะไม่จบ และขอให้ดำเนินการหาข้อเท็จจริงและผู้ที่กระทำผิด