ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฤ พุทธแท้-พุทธเทียม

Logo Thai PBS
ฤ พุทธแท้-พุทธเทียม
กรณีสื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อภาพวาดพระพุทธรูปสวมใส่ชุดอุลตร้าแมน หรืออุลตร้าแมนมีเศียรพระพุทธรูป จัดแสดงในห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดนครราชสีมา ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งความเหมาะสม มุมมองศิลปะ และอาจสะท้อนถึงการเมืองเรื่องศาสนาได้วย

“รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

“ไม่มีเจตนาลบหลู่”

“ต้องการสื่อให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน”

สามเหตุผลที่นักศึกษาหญิงคนหนึ่งกล่าวทั้งน้ำตา ระหว่างเข้าขอขมาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ก็แสดงความเมตตา ขอทุกฝ่ายให้อภัยเด็ก พร้อมฝากให้คิดรอบคอบถี่ถ้วน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบต่อศรัทธาพุทธศาสนิกชน

 

ภาพต้นเหตุปรากฏในนิทรรศการ “ศิลปะ เต๊อะเติ๋น” จัดแสดงในห้างสรรพสินค้า วันที่ 3-11 ก.ย. 2562 แต่หากใครจะไปชมคงต้องผิดหวัง เพราะผู้จัดปลดภาพนี้ออกไปแล้ว หลังถูกวิจารณ์ว่าลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา หนึ่งในสถาบันหลักของชาติ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างที่พระเทพสีมาภรณ์ได้เมตตาให้โอวาทไว้

แต่เมื่อเป็นงานศิลปะ ย่อมต้องมองผ่านแว่นของศิลปินด้วย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ยกเหตุการณ์นี้ เปรียบเทียบกับกรณี อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ที่ถูกกรีดทำลายภาพเมื่อปี 2511 ด้วยข้อกล่าวหาทำลายศาสนา จน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องออกโรงช่วยอธิบายว่า ศิลปะเป็นความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงภาพภิกษุสันดานกาของ อ.อนุพงษ์ จันทร ถ่ายทอดเรื่องราวของพระที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่วนงานของนักศึกษาหญิงคนนี้ ก็ใช้ภาพฮีโร่ในดวงใจ มิได้เป็นตัวร้ายหรือปีศาจที่สื่อความหมายเชิงลบ อ.เฉลิมชัย ตั้งคำถามว่างานศิลปะจะทำลายพุทธศาสนาได้อย่างไร

แล้วอะไรทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสียได้บ้าง

ไม่ว่าด้วยเจตนาดีหรือร้าย แต่ศาสนาพุทธในไทยถูกผูกรวมกับชาตินิยม ผสมปนเปกับวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของผู้คนหลากเชื้อชาติและที่มา บ้างก็ออกมาดีด้วยจิตกุศล แต่ไม่น้อยที่เป็นอกุศลกรรม และทำให้เกิดความเสื่อม

อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ล่วงลับ เขียนบทความไว้เมื่อกันยายน 2559 ระบุช่วงหนึ่งว่า “อคติแบบพุทโธเลี่ยนที่เชื่อว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาอันยอดเยี่ยมดีที่สุดในโลก เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นเหตุผลที่สุด จึงนำมาสู่ข้อเสนอแบบกระแสหลักที่ว่า ศาสนาพุทธต้องอยู่คู่ชาติไทย จะเป็นศาสนาอื่นไม่ได้ และที่มากกว่าคือ การกุข้อมูลว่า ประเทศตะวันตกทั้งหลาย ต่างหันมานับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและมีผู้เชื่อถือว่าเป็นความจริง ทั้งที่ศาสนาพุทธในประเทศไทย เต็มไปด้วยความเชื่อปะปน เช่น เครื่องรางของขลัง พิธีกรรมนานาชนิด ตลอดจนการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกพุทธ ทั้งพระพิฆเนศ เจ้าแม่กวนอิม จตุคามรามเทพ แม้แต่ปลัดขิก...”

อวัยวะเพศที่ผู้คนมองเป็นของต่ำผ่านแว่นอันหนึ่ง แต่กลับกราบไหว้บูชา เมื่อเปลี่ยนไปใส่แว่นอีกอัน อ.สุธาชัย อธิบายในบทความเดียวกัน “การนับถือเป็นสิทธิของแต่ละคน และไม่สามารถบอกได้ในเชิงหลักการสมบูรณ์ว่าศาสนาไหนดีที่สุด หลักการที่ถูกต้องจึงควรจะอยู่ร่วมกันโดยสันติและเคารพกันมากกว่า ถ้าปลุกเร้าความเดียดฉันท์และรังเกียจกันในทางศาสนาแบบพุทโธเลี่ยนจนเกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น...”

เว็บไซต์พจนานุเกรียน นิยาม “พุทโธเลี่ยน” ว่าเป็นสรรพนามแทนตัวของผู้อ้างเป็นชาวพุทธ ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล มีความเกลียดชังต่อผู้คิดต่าง เชื่อในอิทธิปฏิหารย์ เน้นกราบไหว้สิ่งสมมติ ให้ความสำคัญกับพระพุทธรูป ความเชื่อทำดีหวังผลบุญ มากกว่าการศึกษาพระธรรม
แปลให้สั้นๆ คือ ฉันคือพุทธแท้ ใครคิดต่างคือพุทธเทียม ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือฉันจะล้อเลียนล้อเล่นกับศาสนาอื่นได้ แต่ใครจะมาทำกับพุทธของฉันไม่ได้

ขณะที่เว็บไซต์ The Matter อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยยกตัวอย่างความคิดเห็นต่อกรณีไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนบอกว่า เป็นเรื่องบาปบุญและกรรมสนอง 

หากพระสงฆ์สวดอภิธรรมศพ หวังให้ผู้ยังอยู่ปลงกับวัฏฏะสังสาร แต่ในงานเดียวกันกลับมีพิธีกรรมตามความเชื่อของเจ้าภาพ ลบล้างบาปกรรมที่เคยก่อ ให้คนตายได้ขึ้นสวรรค์

หากพระสงฆ์ใช้ดินสอพองผสมน้ำ วาดลวดลายเจิมประตูบ้านและรถยนต์ แต่คนในบ้านกลับทะเลาะบาดหมาง คนใช้รถเมาสุราหนักและขับขี่อันตราย พิธีกรรมนั้นคงทำให้ปลอดภัยร่มเย็นไม่ได้

หากพระสงฆ์ปรับแต่งชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ กรวดหินดินทราย ผสมบทสวดปลุกเสก กลายเป็นวัตถุของขลัง ให้คนพกพากลายเป็นผู้วิเศษ มีแต่คนรักคนหลงหรือฟันแทงไม่เข้า แต่สุดท้ายก็ล้วนเกิดแก่เจ็บตายตามสัจธรรม

นี่คือการผสมผสานสิ่งที่ดูจะย้อนแย้งกันเอง และถูกอธิบายทิ้งท้าย “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

แต่ที่เชื่อได้เลย คือกระแสเงินมหาศาล เวียนว่ายอยู่ในอุตสาหกรรมที่ถูกเรียกว่า “พุทธพาณิชย์” ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงหลักพระธรรมคำสอนหรือไม่และอย่างไร

แม้จะผ่านมาเกือบ 40 ปีแล้ว แต่บรรยายธรรมของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ในครั้งนั้น ยังอธิบายปัญหานี้ให้ชวนขบคิดต่อได้

“...การสร้างปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน สร้างพระพุทธรูปใหญ่ๆ สร้างพระเจดีย์ใหญ่ๆ สร้างโบสถ์วิหารใหญ่ๆ อะไรใหญ่ๆ เนี่ย มันกลายเป็นเพิ่มกำลังให้ไสยศาสตร์ ไม่เพิ่มกำลังให้แก่พุทธศาสตร์ เพราะสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาบูชาภายใต้หลักเกณฑ์ของไสยศาสตร์ ให้ได้กราบให้ได้ไหว้ให้ได้บุญให้ได้บาน อธิษฐานแล้วมันก็จะได้รวยได้ประโยชน์ วิธีนี้เป็นไสยศาสตร์ ถ้าทำแก่พระพุทธรูป ทำแก่พระเจดีย์ ถ้าไปทำอย่างนี้มันเป็นไสยศาสตร์..”

 

 จตุรงค์ แสงโชติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง