ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

เศรษฐกิจ
12 ก.ย. 62
14:11
3,403
Logo Thai PBS
ทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับทหาร ตำรวจ ศุลกากร และ ดีเอสไอ ทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่ากว่า 10 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบางส่วน จากจำนวนกว่า 10 ล้านชิ้นที่คดีสิ้นสุดแล้ว ถูกนำมามาทำลายโดยรถบดภายในหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก เขตดอนเมือง ขณะที่ส่วนที่เหลือจะถูกขนส่งโดยรถบรรทุกไปกำจัดที่นิคมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของผิดกฎหมายจะต้องนำมาทำลายอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ของเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนในท้องตลาดหรือนำกลับมาใช้ได้อีก ซึ่งของละเมิดบางรายการเป็นอันตรายหรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ ของกลางที่นำมาทำลายมาจากการจับกุมและตรวจยึดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 251,019 ชิ้น กรมศุลกากร จำนวน 9,818,358 ชิ้น และกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 551,448 ชิ้น รวมของกลางจากทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 10,620,825 ชิ้น มูลค่ารวมประมาณ 550 ล้านบาท

ประกอบด้วยสินค้าหลายชนิด เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ แผ่นซีดี/วีซีดี แว่นตา เครื่องสำอาง หมวก และผ้าห่ม เป็นต้น

โดยสินค้าที่มีการละเมิดมากที่สุด เป็น เครื่องหนังมูลค่า 140 ล้าน เสื้อและกางเกง 119 ล้าน นาฬิกา 90 ล้าน บุหรี่ 45 ล้านบาท

 

นายจุรินทร์ ระบุว่า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มีแนวโน้มลดลง หลังจากรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีผู้แทนจาก 17 หน่วยงาน เป็นอนุกรรมการ

โดยปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งตลาดที่มีการขายสินค้าละเมิด และตลาดออนไลน์ รวมทั้งเข้มงวดป้องปรามการนำเข้าหรือออกทางช่องทางผ่านแดนตลอดจนทำความเข้าใจ และทำความตกลงกับเจ้าของพื้นที่ ให้เพิ่มการกวดขันมิให้มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดในพื้นที่ของเจ้าของพื้นที่ ทำให้การละเมิดในท้องตลาดและ การละเมิดบนอินเทอร์เน็ตมีปริมาณลดลง ซึ่ง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งไทยและต่างประเทศ

 

สำหรับ การทำลายของกลาง ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก หรือ WTO และเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ค้า นักลงทุนและเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง