วันนี้ (12 ก.ย.2562) นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้นำผู้ประกอบการรถแท็กซี่มายื่นหนังสือเพื่อขอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เร่งเยียวยาผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรถสาธารณะ
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในช่วงเวลารถติดที่มีการกำหนดไว้ไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นได้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งปัจจุบันปัญหาและสภาพการจราจรเปลี่ยนไปโดยสภาพที่วิ่งได้จริงอยู่ที่ประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงมองว่าไม่สะท้อนกับความเป็นจริง ส่งผลให้เกิดการปฎิเสธผู้โดยสารและการร้องเรียนตามมา
ส่วนตัวไม่ได้ปฎิเสธรูปแบบใหม่ในการพัฒนาการให้บริการแต่จะต้องคิดอย่างรอบคอบ เนื่องจากในอนาคตเมื่อการให้บริการรถแท็กซี่เปิดเสรีและเกิดการแข่งขัน แต่ถ้ามีอยู่แค่เพียง 2-3 บริษัท ที่จะควบคุมกลไกของแท็กซี่ทั้งหมด จะมีกลไกอะไรที่จะมาควบคุมในส่วนนี้จึงต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม
นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เครือข่ายฯ ได้มีการแสดงความจำนงที่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของรถแท็กซี่ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อครหา หรือปัญหาอื่น ๆ ตามมาภายหลังการออกประกาศใช้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและจะมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่แต่ละกลุ่มเข้าร่วมเพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา
ส่วนปัญหาในช่วงเวลารถติดที่มีการกำหนดไว้ไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้ค่าตอบแทนนาทีละ 2 บาทนั้นก็จะต้องมีการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเช่นกัน
สำหรับปัญหาการต่อขยายอายุนั้น เบื้องต้น รถที่จะต่อขยายอายุจะต้องเป็นรถที่มีความปลอดภัยสูง หากไม่ปลอดภัยก็จะต้องนำออกจากระบบไป นอกจากนี้สำหรับรถแท็กซี่ที่อายุเกินได้ขอให้ทางกรมการขนส่งทางบกดำเนินการจัดการขั้นเด็ดขาด
รถแท็กซี่หมวด ทก และ ทข สัญลักษณ์สีดำ - เหลือง ที่ให้บริการรับจ้างรับส่งผู้โดยสารในลักษณะเหมาคันและยังไม่ติดมิเตอร์ที่ยังวิ่งให้บริการอยู่อีกประมาณ 100 - 200 คัน นั้นต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งวันนี้ทุกอย่างจะต้องเข้าระบบและมีความปลอดภัย รวมถึงผู้ให้บริการก็ต้องได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามทางกระทรวงคมนาคมจะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับในเรื่องนี้เพื่อนำข้อคิดเห็นจากกลุ่มแท็กซี่ทุกกลุ่มมารวมกับเพื่อหาการแก้ไขปัญหา
ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ เสนอมา เบื้องต้น ขบ.จะเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้ตามข้อเรียกร้องแน่นอน โดยขณะนี้ ทางกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว ถ้าตกผลึกเมื่อไหร่ก็จะทำการเชิญตัวแทนเครือข่ายฯ รวมถึงมูลนิธิเกี่ยวกับผู้บริโภคเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะทำงานฯ เพื่อทำประชาพิจารณ์ร่วมกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอบางข้อที่คณะกรรมการยังมีกังวล เช่น การควบคุมบริษัทที่ให้บริการแอปพลิเคชัน ที่ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและมีการเสียภาษีในประเทศไทยทั้งหมด, การขอลดขนาดรถแท็กซี่ที่ให้บริการ และการขอขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2562 ได้มีการหารือกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ถึงเรื่องการขยายอายุรถจะมีการตรวจสอบความปลอดภัยของรถจะทำได้อย่างไร เพราะว่าการขยายอายุจากเดิมต้องมีข้อมูลที่จะชี้แจงให้กับประชาชนที่ชี้แจงด้วย ทั้งนี้ หากรถคันผ่านเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ก็อาจจะสามารถขยายอายุต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็ไม่สามารถขยายเวลาการใช้งานรถได้ตามนโยบายที่กำหนด