เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2562 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ เครือข่ายคนกินแดดภาคใต้ เครือข่ายโซล่าเซลล์ภาคอีสาน เครือข่ายพลังงานภาคเหนือ เครือข่ายผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวโครงการ “คนบันดาลไฟ” สร้างพื้นที่การเรียนรู้และแรงบันดาลใจ ในการหันมาเห็นคุณค่าของการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด หรือ โซล่าเซลล์ พร้อมสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพลังงานทางเลือก ตลอดจนสร้างต้นแบบความมั่นคงและยั่งยืน
คนบันดาลไฟ
บริเวณอุทยานแห่งชาติ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกใช้เป็นพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งโซล่าเซลล์จากทั่วประเทศให้ความรู้ ความเข้าใจ และทดลองปฏิบัติจริง ให้ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อสร้างแหล่งพลังงานทางเลือกด้วยตัวเอง
คนบันดาลไฟ
เช่น เทคนิคการติดตั้งและใช้งานโซล่าเซลล์เคลื่อนที่ โดย นายสมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้วยไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ เพื่อยกระดับราคาผลผลิตของชาวบ้าน โดย จ.อ.สมบัติ วิสูตรพันธุ์ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานชุมชน จ.ชัยนาท
หรือ แบบจำลองเรือพิทักษ์สมุทร เรือยนต์ที่แล่นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวทะเลไทยอย่างยั่งยืน โดย นายนิพนธ์ สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมวก จ.ตราด
คนบันดาลไฟ
นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ โดยสมัครเข้าอบรมใน www.คนบันดาลไฟ.com เพื่อเรียนรู้วิธีการผลิตไฟฟ้าฉบับออนไลน์ กับโครงการ "มหา’ลัยไฟจากฟ้า" ที่มีการสอนจาก 4 สำนัก คือ สำนักศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี, สำนักลานหินตัด จ.บุรีรัมย์, สำนักช่วยอารีย์ จ.นครศรีธรรมราช และสำนักช่างดำ จ.บุรีรัมย์ โดยมีหลักสูตรระดับความรู้ทั่วไป ความรู้พึ่งพาตัวเอง และความรู้เชิงประยุกต์ ให้เลือกศึกษาได้ตามความต้องการ รวมถึงยังวางแผนจัดอบรมในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ 15 แห่ง จำนวน 32 ครั้ง กลุ่มเป้าหมาย 1,500 คน
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. ระบุว่า มีความจำเป็นที่ต้องหาพลังงานทางเลือกใหม่ ที่สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาทดแทนพลังงานจากถ่านหิน พลังงานจากเขื่อน และความร้อนใต้พิภพที่กำลังจะหมดไป อย่างเช่นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นทางเลือกที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ง่ายต่อการติดตั้ง และนำมาใช้จริง จึงต้องส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ และความตระหนักทางด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายระยะยาว เช่น การยกเลิกโครงการพลังงานไฟฟ้าถ่านหิน นายเสมอใจกล่าวว่า ยังไม่ได้คาดหวังถึงเช่นนั้น แต่ต้องการให้เกิดการใช้โซล่าเซลล์อย่างแพร่หลาย และให้มีพลังงานทางเลือกใช้มากขึ้นก่อน
วอนรัฐเร่งปลดล็อกระเบียบรับซื้อไฟ
นายสมพร ช่วยอารีย์ กล่าวถึงข้อจำกัดของการใช้โซล่าเซลล์ เช่น ในด้านของการขายพลังงานไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตได้คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังมีราคาที่ต่างกัน คือ ราคารับซื้อประมาณ 3.8 บาทต่อหน่วย ราคาขายประมาณ 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งควรปรับให้มีราคาที่ไม่ต่างกันมาก และการขึ้นทะเบียนระบบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ควรให้มีขั้นตอนที่สะดวกมากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องใช้เอกสารจำนวนมาก
นายสมพร ยังกล่าวอีกว่า ภาครัฐควรมีส่วนสนับสนุนการติดตั้งโซล่าเซลล์ เช่น หากมีงบประมาณสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง ควรเป็นงบของการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์โดยเฉพาะ สุดท้าย คือ การทำฐานข้อมูลชาติ รวบรวมข้อมูลของผู้ที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูล และคิดแผนการส่งเสริมเชิงนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในด้านของการพัฒนาโครงการการผลิตไฟฟ้า และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยพลังงานทางเลือก
คนบันดาลไฟ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุดยอด! อบต.หนองตาแต้ม ค้วารางวัล UN ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้ 100%
พลิกปมข่าว : ใครชี้ชะตา...พลังงานทางเลือก