เมื่อวันที่ (14 ก.ย.2562) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสำนักงานบริหาร ทช.ที่ 10 (ตรัง) รับแจ้งจาก นายสมศักดิ์ พันธุเมศ กรณีพบซากพะยูน ลอยในทะเลระหว่างเกาะยา จ.ตรัง และเกาะไหง จ.กระบี่ สภาพซากมีลำไส้ทะลักออกมา ไม่สามารถระบุเพศได้ เนื่องจากลำไส้ทะลักออกมาปิดบริเวณหน้าท้อง เมื่อทราบเรื่องทางกรม ทช. ได้เร่งนำเรือ ทช. ออกไปค้นหาตั้งแต่เวลา 12.00-15.30 น. ซึ่งช่วงดังกล่าวมีฝนตกและคลื่นลมแรง จากความพยายามในการค้นหาตามพื้นที่ที่ได้รับแจ้งมากกว่า 3 ชั่วโมง ก็ไม่พบซากพะยูน จึงยุติภารกิจการค้นหา แต่จากภาพซากพะยูนตามที่ผู้พบได้ถ่ายภาพไว้ คาดว่าพะยูนตัวนี้จะมีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม และคาดว่าตายมาแล้วประมาณ 5-7 วัน
ทั้งนี้ ได้ประสานเครือข่ายในพื้นที่ชายฝั่ง ให้ช่วยกันตรวจสอบตามพื้นที่ชายหาดและในทะเล หากพบเจอซาก ขอให้แจ้งมาที่ กรม ทช.ในพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อไป
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ขณะเดียวกัน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า มีรายงานพะยูนตายอีกแล้ว พบที่กลางทะเลตรัง นับเป็นตัวที่ 19 ของปีนี้ ยังไม่ได้นำเข้าฝั่ง จึงยังไม่ทราบสาเหตุ
ปรกติพะยูนตาย 10-12 ตัวต่อปี แต่ปีนี้ยังไม่ถึง 10 เดือน ตายไปแล้ว 19 ตัว ตัวเลขนี้คิดเป็นเกือบ 10% ของพะยูนที่ตรัง-กระบี่ (200 ตัว) มากเกินกว่าการเกิดทดแทนได้ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ปีนี้จำนวนพะยูนเราอาจลดลง หลังจากค่อยๆ เพิ่มมาในระยะหนึ่ง
ทราบดีว่าทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ แต่เราคงต้องการอะไรที่พลิกโฉม ยกระดับทั้งหมด โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้คนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยสนับสนุนให้พี่น้องชายฝั่งอยู่ร่วมกับพะยูนได้
มาเรียมโปรเจ็ค จะเข้าคณะกรรมการทะเลแห่งชาติตอนปลายเดือน หวังว่าทุกอย่างคงเป็นไปด้วยดี เพราะนี่แหละเป็นความหวังที่น่าจะเป็นจริงได้เร็วที่สุดของเรา เศร้าครับ แต่ต้องพยายามเต็มที่ สิ่งที่ผมพอทำได้คือดันมาเรียมโปรดจ็คให้ผ่าน พี่น้องแถวนั้นก็ช่วยกันดูแลพื้นที่ช่วยกันรายงาน ไม่มีอะไรง่ายแต่เรายอมแพ้ไม่ได้
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ตายสูงขึ้นกว่าทุกปี
ขณะที่เพจ ReReef โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า นอกจากจะเป็นตัวที่ 11 ของทะเลตรัง ยังเป็นตัวที่ 19 แล้วเท่าที่มีข้อมูลของปีนี้ นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยพบประมาณปีละ 10-12 ตัว ซึ่งก็นับว่าสูงมากแล้วกับกลุ่มประชากรสัตว์ทะเลหายากที่คาดว่าเหลืออยู่เพียง 200-250 ตัวเท่านั้นในประเทศไทย
"ด้วยอัตราการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติที่ต่ำ หากต้องการให้พะยูนอยู่คู่ทะเลไทย จะต้องป้องกันไม่ให้มีอัตราการตายสูงเกิน 5% ต่อปี หมายความว่าไม่ควรมีพะยูนเสียชีวิตเกิน 10-12 ตัวต่อปี ถ้าสูงกว่านี้ประชากรจะค่อยๆ ลดลง จนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์"
เพจดังกล่าวระบุว่า จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร้อยละ 90 ของสาเหตุการตายของพะยูนคือ การติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งคงต้องเร่งหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป
ภาพ : สมศักดิ์ พันธุเมศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทม์ไลน์ พะยูนตายปี 62 ทะเลกระบี่-ตรัง
ความตายสีเทา 5 ชีวิต “พะยูน” กระบี่-ตรัง
วิกฤต! พะยูนตาย 17 ชีวิต สะท้อนปัญหาทะเลไทย