ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้านมาตรการ "ตรวจรถ-คนขับ-จุดตรวจรถโดยสาร" เหตุเพิ่มภาระผู้ประกอบการ

เศรษฐกิจ
16 ก.ย. 62
17:49
770
Logo Thai PBS
ค้านมาตรการ "ตรวจรถ-คนขับ-จุดตรวจรถโดยสาร" เหตุเพิ่มภาระผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการเอกชนค้านกรมขนส่งฯ กรณีการตรวจรถ-คนขับ-จุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ พร้อมระบุ มีความซ้ำซ้อน เพิ่มภาระผู้ประกอบการ และต้องเสียรายได้ในวันที่ต้องนำรถเข้าตรวจ

วันนี้ (16 ก.ย.2562) นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน รถโดยสารร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถร่วม ขสมก.) เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) ให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถเช่าเหมา) ได้ยื่นหนังสือถึงนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เรื่องขอคัดค้านการขอความร่วมมือในการนำรถเข้าตรวจสภาพและนำพนักงานขับรถเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย โดยมีนางสุนิสา อนันตกูล ผู้ตรวจราชการกรม ขบ.และ นายธีระพงศ์ งามเอก ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งผู้โดยสาร ขบ.เป็นผู้รับหนังสือแทน


นายวิทยา ระบุว่า ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนและเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงส่งผลให้สูญเสียรายได้ในวันที่ต้องนำรถเข้าตรวจ ซึ่งรถบางคันต้องเสียค่าใช้จ่ายการตรวจรถเฉลี่ยคันละ 5,000 บาท แต่สามารถหารายได้เพียวันละ 3,000 - 4,000 บาทเท่านั้น 

 

ปัจจุบัน รถโดยสารสาธารณะจะต้องได้รับการตรวจสภาพจากสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครหน่วยงาน ในสังกัดกรมการขนส่งทางบกปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบที่ทางกรมการขนส่งทางบกกำหนด และยังถูกหน่วยงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) ตรวจสอบทั้งสภาพรถและสมรรถภาพพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารทุกๆ 3 เดือน และในแต่ละครั้งที่ทำการตรวจต้องเสียเวลา 1 วัน ส่งผลทำให้ไม่มีรายได้ในวันดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายการนำรถเข้าตรวจสภาพไม่ต่ำกว่าคันละ 2,000 บาท หากไม่ผ่านการตรวจสภาพก็ต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไข และนำมาตรวจสภาพใหม่อีกครั้งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

ส่วนของการนำพนักงานเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย ก็เป็นการสร้างภาระให้ผู้ประกอบการ เพราะต้องหยุดงาน แทนที่เจ้าหน้าที่ขนส่งจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่มีอยู่แล้วให้สามารถตรวจสมรรถภาพของพนักงานขับรถไปพร้อมกันจะได้ผลเป็นรูปธรรมมากกว่า เพราะพนักงานกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนท้องถนนจริง 

 

ด้านกรมการขนส่งทางบก ระบุ วันนี้เป็นวันแรกที่มีการกำหนดจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Checking Point) ทุกๆ ระยะทาง 90 กิโลเมตรทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการบูรณาการร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และบริษัท ขนส่ง จำกัด และจะมีการดำเนินการต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หากผู้ประกอบการขนส่งประจำทางและไม่ประจำทางละเลยไม่นำรถเข้ารับการตรวจความพร้อมจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 31 (10) หรือตามมาตรา 32 (6) แล้วแต่กรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง