วันนี้ (17 ก.ย.2562) ในงานประชุมวิชาการ “ธรณีวิทยาก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” จัดโดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการนำเสนอผลงานการศึกษา วิจัย เกี่ยวกับธรณีวิทยาหลายด้าน
หนึ่งในเวทีกลุ่มย่อย ด้านธรณีวิทยาพิบัติภัย นายวีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “รอยเลื่อนเวียงแหง : รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย” โดยมีที่มาจากการศึกษาด้วยสมมติฐาน เริ่มจากการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ แปรผันข้อมูลกับพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน ประกอบกับพื้นที่ ที่ทำการศึกษา คือ พื้นที่ป่าบ้านเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
จากการศึกษาดังกล่าว พบธรณีสัณฐาน ที่เป็นผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน ประกอบด้วย ผารอยเลื่อน ผาสามเหลี่ยม และหุบเขาเส้นตรง ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ชนิดรอยเลื่อนปกติ
เพื่อให้ยืนยันในสมมติฐานนี้ คณะสำรวจจึงได้กำหนดจุด ขุดร่องสำรวจ เพื่อชี้ให้เห็นการตัดชั้นตะกอนของรอยเลื่อน โดยขุดร่องสำรวจความกว้าง 3.5 เมตร ยาว 20-30 เมตร และลึก 4 เมตร ตามขวางของแนวที่คาดว่าเป็นรอยเลื่อน ซึ่งพบว่า มีร่องรอยการตัดชั้นตะกอน หรือชั้นตะกอนขาดออกจากกัน ซึ่งแปลว่า ในอดีตพื้นที่นี้เคยเกิดแผ่นดินไหว จากนั้นได้นำตัวอย่างตะกอนที่ถูกรอยเลื่อนตัดผ่าน มากำหนดอายุ ตามหลักวิชาการ
นายวีระชาติ ยังให้ข้อมูลในร่องสำรวจ พบหลักฐานแผ่นดินไหวโบราณในพื้นที่นี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 6 เหตุการณ์สำคัญ คือ เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว 20,000 ปีที่แล้ว 18,000 ปีที่แล้ว 15,000 ปีที่แล้ว 9,000 ปีที่แล้ว และ ครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8
หากอิงจากหลักเกณฑ์ การพิจารณารอยเลื่อนมีพลังที่ยึดตามหลักสากล คือ รอยเลื่อนต้องขยับอย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 10,000 ปี ดังนั้นรอยเลื่อนที่เวียงแหง จึงเข้าเงื่อนไขการเป็นรอยเลื่อนมีพลัง ที่ 16 ของประเทศไทย
ไม่ตื่นตระหนก แต่ต้องตระหนักพร้อมรับมือ
ขณะที่ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุถึงความสำคัญของการค้นพบรอยเลื่อนมีพลังใหม่ของไทย เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการรับมือภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ที่ในอนาคตอาจมีโอกาสเกิด ดังนั้น ข้อมูลรอยเลื่อนใหม่ จึงเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนภาครัฐ ที่จะมีข้อมูลเพื่อใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือเชิงพื้นที่
โดยเฉพาะการเป็นข้อมูลสำคัญ ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้กำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ในพื้นที่รอยเลื่อนดังกล่าว จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และกำหนดโครงสร้างที่แข็งแรง มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้ใช้ข้อมูลนี้ เพื่อเตรียมการป้องกัน รับมือเหตุภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ยังกล่าวอีกว่า การค้นพบรอยเลื่อนใหม่ ถือว่าเป็นไปตามปกติ เพราะลักษณะทางธรณีวิทยาของไทย ยังไม่ถือว่ามีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเหมือนในเมียนมา หรือ ญี่ปุ่น ดังนั้น ผู้คนในพื้นที่ที่รับรู้เรื่องเหล่านี้ ไม่ควรกังวล หรือ ตื่นตระหนก เพราะหากเทียบกับปัจจุบันในพื้นที่เวียงแหง และพื้นที่ใกล้เคียง ถือว่าอยู่ใกล้เคียงกับจุดรอยเลื่อนอื่น ๆ ซึ่งสามารถเกิดการสั่นสะเทือนในระดับ 2-3 อยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อทราบว่าอยู่ในแนวรอยเลื่อนใหม่
ประชาชนจึงควรรับรู้ และตระหนักถึงวิธีการรับมือ พร้อมคำนึงถึงการก่อสร้างอาคาร บ้านพัก ที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างเพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับรอยเลื่อนมีพลัง แห่งที่ 16 ของไทย อยู่ในชื่อ “กลุ่มรอยเลื่อนเมืองแหง” ประกอบด้วย รอยเลื่อนเวียงแหง, รอยเลื่อนปาย, รอยเลื่อนเชียงดาว และ รอยเลื่อนไชยปราการ วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ บริเวณใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา จาก อ.เวียงแหง ถึง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร พบอัตราการเคลื่อนตัวระยะยาว 0.11 มิลลิเมตรต่อปี
ขณะที่รอยเลื่อนมีพลัง 15 แห่ง (เดิม) ประกอบด้วย รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย เชียงใหม่, รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย, รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก, รอยเลื่อนเมย จ.ตาก กำแพงเพชร, รอยเลื่อนแม่ทา จ.เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย, รอยเลื่อนเถิน จ.ลำปาง แพร่, รอยเลื่อนพะเยา จ.พะเยา เชียงราย ลำปาง, รอยเลื่อนปัว จ.น่าน, รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์, รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี, รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี ตาก, รอยเลื่อนระนอง จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พังงา, รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จ.สุราษฏร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต, รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ เลย และ รอยเลื่อนแม่ลาว จ.เชียงราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมทรัพยากรธรณี เปิดข้อมูล "ธรณี" ที่ประชาชนต้องรู้