ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กอบศักดิ์" ยอมรับก้าวพลาด ให้ความสำคัญ "อีอีซี" มากกว่า ปชช.

การเมือง
19 ก.ย. 62
18:08
14,758
Logo Thai PBS
"กอบศักดิ์" ยอมรับก้าวพลาด ให้ความสำคัญ "อีอีซี" มากกว่า ปชช.
ประชุมสภาพัฒน์ฯ "กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ยอมรับรัฐบาลก้าวพลาดให้ความสำคัญโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มากกว่าคุณภาพชีวิต ปชช. ถึงเวลาเปลี่ยน “คนเล็กคนน้อย" มีบทบาทในเวทีโลก "สศช." ชูแนวคิด "พัฒนาเชิงพื้นที่ เชื่อมไทย เชื่อมโลก" เดินหน้าสร้างความสมดุลการพัฒนาทุกมิติ

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) กล่าวตอนหนึ่ง ในการประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพลาดพลั้ง เพราะให้ความสำคัญกับโครงการใหญ่ ๆ ที่จับต้องได้ง่ายกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ให้ประชาชนสำคัญเทียบเท่าโครงการใหญ่ ๆ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี หากทำได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของไทย ที่นำมาสู่การพัฒนาอย่างที่หลายคนต้องการ คือ ความสมดุลของการพัฒนา

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พัฒนาแล้วเป็นตานขโมย อีอีซีใหญ่ แต่พี่น้องประชาชนผอมแห้งแรงน้อย เราต้องทำให้อุดมสมบูรณ์ อีอีซีก็โต พี่น้องประชาชนก็แข็งแรงเหมือนกันถ้วนหน้า

นายกอบศักดิ์ ยังเปรียบเทียบโครงการอีอีซีกับขบวนรถไฟ ที่ต้องทำให้ทั้งหัวรถจักรและโบกี้แข็งแรง จะสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่หากทำแต่หัวรถจักร โดยทิ้งโบกี้ไว้ข้างหลัง ก็น่าหนักใจ ต้องให้โบกี้ที่เปรียบเหมือนคนเล็กคนน้อยในชนบท ไปด้วยกันอย่างคู่ขนาน ให้ความสำคัญกับประชาชนไม่น้อยไปกว่าโครงการอีอีซี ซึ่งหมายถึง การให้ประชาชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้อำนาจกลับไปอยู่ที่มือของประชาชน โดยยกตัวอย่างกรณี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ให้พื้นที่ป่าได้รับการดูแลร่วมกัน ระหว่างรัฐ กับ ภาคประชาชน เพียงแต่รัฐบาลต้องปลดล็อก จึงจะเดินหน้าไปได้

ถ้าเรามีแต่ตึก พี่น้องประชาชนมีแต่หนี้ สูญเสียที่ดิน ลำบาก เสียอาชีพ ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง บ้านเมืองที่น่าอยู่ คือ บ้านเมืองที่พี่น้องประชาชน แต่ละคนมีความเข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้ ยิ้มได้ และสามารถคิดอะไรดี ๆ ให้ประเทศได้ นี่คือทางที่เรากำลังจะไป คือ ให้พี่น้องประชาชนลุกยืนได้ โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากรัฐบาล

 

นายกอบศักดิ์ ยังระบุถึงความเชื่อมโยงสำคัญ 3 ด้าน ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างประชาชนคนเล็กคนน้อย กับ โลก

  1. เชื่อมเทคโนโลยี ด้วยการเรียนรู้จากโลก และนำมาพัฒนาในประเทศไทย จะก้าวไกลได้เร็ว ก้าวสู่เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยเร่งรัดปฏิกริยาให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ภายในประเทศ และพัฒนาเชื่อมโลกมาสู่ประเทศไทยได้
  2. หาวิธีการและแนวทางส่งเสริมสินค้าไทย ให้ออกสู่ตลาดโลก เช่น ในอดีต ประเทศไทยเคยพึ่งพาสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป แต่ปัจจุบัน ต้องพึ่งพาอาเซียน หรือกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) รวมถึงจีนและอินเดีย 
  3. เชื่อมโอกาสให้ถึงประชาชนระดับฐานราก โดยต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้สามารถค้าขายสู่ตลาดโลกได้ หากทำได้ดี ประเทศไทยจะเชื่อมโลกได้ก้าวไกลอย่างแท้จริง

 

พัฒนา เมืองน่าอยู่ : แข่งขันได้ สังคมยั่งยืน

ศ.พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า ในเชิงภูมิศาสตร์ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ รายล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีศักยภาพการพัฒนา และยังอยู่ใกล้ประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก 2 อันดับแรกของโลก คือ จีนและอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็นร้อยละ 36.2 ของประชากรทั้งโลก ถือเป็นตลาดสำคัญขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย

เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ระบุถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงข่ายคมนาคม พื้นที่เมือง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ส่งเสริม และเร่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ


เลขาธิการ สศช. ยังระบุถึงมิติการพัฒนาเมืองน่าอยู่ว่า เมืองที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม บนพื้นฐานความพร้อมและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคตของประเทศไทย เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยการประยุกต์ใช้และต่อยอดจากเมืองที่มีการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ อยู่แล้วของแต่ละภูมิภาค

เช่น เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย เมืองสุขภาวะ เมืองอัจฉริยะ เพื่อให้การพัฒนาเมืองในอนาคต สามารถรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และสอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง


นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช. ระบุว่า การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เป็นทิศทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว มีเป้าหมายพัฒนาเมืองที่มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อม แต่จะสามารถนำแนวนโยบายไปปรับใช้ได้อย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ท้องถิ่น ว่าจะนำร่องพัฒนาพื้นที่ด้านใดเป็นอย่างแรก และในทิศทางใด โดยคำนึงถึงลักษณะทางประชากรศาสตร์ของพื้นที่นั้น ๆ โดยการพัฒนาเมือง อาจไม่จำเป็นต้องมุ่งแข่งขันเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงโอกาสของการสร้างความเสมอภาค ทำให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองร่วมกัน

ด้าน ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า การสร้างพื้นที่เมืองให้น่าอยู่และก้าวไกลเชื่อมโลก ที่เริ่มจากระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาจฟังดูธรรมดาแต่มีความสำคัญ เช่น การเดินเท้า หรือระบบขนส่งมวลชน หากทำให้เมืองเดินได้เดินดีจะเป็นโอกาสของการมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมดี Zero Carbon และการดีต่อเศรษฐกิจ กระจายความมั่นคง สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่รายทาง เกิดความถี่ในการจับจ่ายใช้สอยระหว่างทางสูง

ตามที่รัฐตั้งเป้าไว้ว่า ต้องการยกระดับให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพี แต่ปัจจุบัน รายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทยไม่พัฒนา ก็เพราะพื้นที่ในเมืองต่าง ๆ ยังคงเดินทางลำบาก แม้แต่กรุงเทพฯ เอง


ผศ.นิรมล ยังระบุอีกว่า ยังมีความท้าทายอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงอายุของประชากร เข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ดังนั้น การทำให้ชุมชนและเมืองน่าอยู่ จะช่วงสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ พร้อมกับการพัฒนาอย่างสมดุลได้ ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจมั่นคง สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สังคมเป็นธรรม และยังสอดคล้องกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)


สำหรับการประชุมประจำปี 2562 ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด “พัฒนาพื้นที่ไทย เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” ที่เปิดพื้นที่แสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาในกลุ่มย่อยทั้ง 5 ด้าน คือ 1) ภาคและพื้นที่ : ขับเคลื่อนประเทศด้วยความเจริญเติบโตที่ทั่วถึง 2) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) : เชื่อมไทย เชื่อมโลก 3) โครงสร้างพื้นฐาน : เชื่อมโยงโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 4) เมืองน่าอยู่ : แข่งขันได้ สังคมยั่งยืน และ 5) การบริหารจัดการเชิงพื้นที่: ความร่วมมือทุกภาคส่วนและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มแล้ว! ญัตติด่วนขอตั้ง กมธ.อีอีซี ชี้ปัญหา-ของบพัฒนาให้สมดุล

เลือกตั้ง2562 : ทางเลือกที่สมดุล พัฒนาเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม

อยู่อย่างไรให้สมดุลในยุคสังคมชราภาพ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง