ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"Fridays for Future" หยุดเรียนมาคุยเรื่องโลกร้อน

สิ่งแวดล้อม
21 ก.ย. 62
15:09
973
Logo Thai PBS
"Fridays for Future" หยุดเรียนมาคุยเรื่องโลกร้อน
เพจดังด้านสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม "Fridays for Future" The Future Is In Our Hands ชวนภาครัฐ เอกชน และประชาชน พูดคุยวิกฤตภาวะโลกร้อน และร่วมหาแนวทางแก้ไข พร้อมชมนิทรรศการแนวทางการช่วยโลกด้วยมือคุณ

วานนี้ (20 ก.ย.) เพจดังด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง Too Young to Die และ Environman รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรม "Fridays for Future" The Future Is In Our Hands ที่ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก "เกรตา ธุนเบิร์ก" ที่หยุดเรียนทุกๆ วันศุกร์ เพื่อประท้วงวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เยาวชนในหลายประเทศทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อโลก จนกลายเป็นกิจกรรม Fridays For Future ที่จัดพร้อมกันในหลายประเทศ 


โดยภายในงานมีนิทรรศการมีพื้นที่ให้ผู้ร่วมงานได้นำฝาขวดน้ำมาร่วมบริจาคเพื่อนำไปรีไซเคิล และ ชวนผู้ร่วมงานบอกวิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อช่วยโลกด้วยแผ่นโพสต์อิท พร้อมมีบอร์ดกิจกรรมหย่อนลูกปัดเพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าคุณทำอะไรเพื่อช่วยโลกบ้าง ทั้งแยกขยะ พกถุงผ้าและงดรับถุงพลาสติก หรือไม่รับหลอดพลาสติก พกแก้วส่วนตัว และมีรายงานสถิติด้านสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้ยังมีการเสวนาระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 

นันทิชา โอเจริญชัย กลุ่ม Climate Strike Thailand ระบุว่า ในช่วงเช้ากลุ่มเยาวชนไทยและต่างชาติร่วมเดินขบวนเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Global Climate Strike ที่จัดขึ้นเกือบ 5,000 แห่งใน 163 ประเทศทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ และประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ผู้ร่วมเดินขบวนนัดรวมตัวกันบริเวณ สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ช่วงสาย ๆ ก่อนจะเดินเป็นระยะทางราว 2.5 กิโลเมตรไปยื่นจดหมายเปิดผนึก โดยนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับจดหมายเปิดผนึกจากตัวแทนผู้ชุมนุม Climate Strike Thailand เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพแวดล้อม และแก้ไขปัญหาโลกร้อน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลลดการใช้ฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2568 และ 100% ในปี 2573

การเดินขบวนครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการลงมือปฎิบัติ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน โลกมันร้อนมากขึ้นทุกวัน ตอนนี้ผู้ใหญ่คิดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ และเรื่องเงิน แต่สิ่งที่พวกเขาลืมคิดถึง คือ โลก ที่เป็นอนาคตของพวกเขาเหมือนกัน

ในวันที่หมีขั้วโลก ไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้อาศัย

ขณะที่ รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยไทยผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบภาวะโลกร้อน หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า จากการลงพื้นที่สำรวจของนักวิจัยไทยพบว่า บริเวณขั้วโลกเหนือมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 4 องศาเซลเซส ทั้งที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้กำหนดให้พยายามควบคุมอุณหภูมิจนสิ้นศตวรรษนี้ให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิน้ำทะเลขั้วโลกเหนืออุ่นขึ้น 5 องศาเซลเซียส 

น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น ลองคิดว่าถ้าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้น 5 เมตร หากน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายหมด น้ำทะเลจะสูงขึ้น 50 เมตร สูงเท่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานครก็เอาไม่อยู่


ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจ ปีที่แล้วแทบจะไม่มีแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ในพื้นที่ อย่างเพนกวินที่พ่อแม่ต้องผลัดกันออกไปหาอาหารให้ลูก แต่เมื่อไม่มีแผ่นน้ำแข็งก็ทำให้มันหมดแรงจนกลับมาไม่ได้ จนลูกต้องอดตาย เช่นเดียวกับหมีขาวที่ต้องมาอาศัยอยู่บนแผ่นดิน เพราะไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้อยู่อาศัย และไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้พักระหว่างการออกหาอาหาร นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้นอที่ส่งผลกระทบต่อการละลายของแผ่นน้ำแข็งยังส่งผลต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศขั้วโลกเหนืออย่างนอร์เวย์ ที่เกิดน้ำท่วมทั้งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน 

ถึงเวลาประเทศไทยประกาศภาวะฉุกเฉินหรือยัง?

ด้าน ศิวัช แก้วเจริญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกลุ่มงานฐานข้อมูลและองค์ความรู้ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ระบว่า ประเทศไทยกำลังศึกษาการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว ซึ่งการจะขับเคลื่อนไปได้ต้องขึ้นอยู่กับ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน อุตสาหกรรม ของเสีย เกษตร และป่าไม้

ส่วนการจะประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น สิ่งที่จะทำให้เห็นผลได้ คือการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน พลังงานมีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้แน่นอน ขณะที่อุตสาหกรรมก็มีการมองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดการผลิตก๊าซเรือนกระจก แต่ภาคเกษตรที่มีการผลิตก๊าซเรือนกระจกเช่นกันแต่ยังไม่มีแนวทางการช่วยเหลือ ดังนั้น ในอนาคตต้องการศึกษาและแนะแนวทางให้ภาคเกษตรเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาและลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเตรียมแผนประกาศภาวะฉุกเฉิน และต้องมีการตั้งกองทุนเพื่อใช้เงินเพื่อบริหารจัดการ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเพื่อขับเคลื่อนได้ ซึ่งกฎหมายจะเข้ามาช่วยเหลือในสิ่งเหล่านี้ สำหรับประเทศที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีเงิน มีศักยภาพและเทคโนโลยีที่พร้อมจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ จึงกล้าประกาศ ส่วนของประเทศไทยขณะนี้ก็ต้องมีการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะประกาศต่อไป


ขณะที่ เสริมสุข นพพันธ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานกรุงเทพมหานคร ระบุว่า แม้จะไม่มีแผนรับมือฉุกเฉิน แต่กรุงเทพมหานครมีแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมพร้อมทุกด้าน ทั้งด้านขนส่ง พลังงาน ขยะ น้ำเสีย มีโครงการ 109 โครงการ ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำโครงการเร่งด่วนแล้ว 46 โครงการ โดยปัจจุบัน กทม.ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และหันไปใช้รถไฟฟ้า ซึ่งประเมินภาพรวมทุกด้าน กทม.สามารถลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกลงไปได้เกือบครึ่งหนึ่งจากเดิม โดยต่อจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ Jica เพื่อศึกษาและทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2556 - 2566  

ด้าน ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า เรื่องภาวะโลกร้อน มันไม่ใช่เรื่องของยุคนี้ แต่เป็นผลของอีกเจนเนอเรชันหนึ่ง ลูกๆ ของเราจึงออกมาบอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยน พอมันเป็นเรื่องอนาคต เราไม่สามารถจินตนาการไปได้ อีก 80 กว่าปีข้างหน้า ไม่รู้สังคมไทยจะพร้อมรับมือหรือยัง วันนี้เราทุกคนต้องช่วยกัน สนับสนุนให้มาสร้างการเปลี่ยนแปลง

อย่างเรื่องการคมนาคมในเมืองทั้ง กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือหาดใหญ่ หัวใจสำคัญที่ต้องแก้ไขหรือลดใช้พลังงาน คือ ต้องปรับเรื่องผังเมือง ที่ไม่ต้องพึ่งพารถตลอดเวลา ยกตัวอย่างเส้นพหลโยธินไปสุขุมวิท โครงข่ายไฟฟ้าอยู่ใต้ดินแล้ว แต่ต้นไม้บนทางเท้ายังน้อยมาก

ถ้าสามารถเดินจากอารีย์ถึงสะพานควายได้โดยมีทางเดินที่มีร่มไม้ คงไม่มีใครใช้รถส่วนตัวหรือแม้แต่ขึ้นรถเมล์ ถ้ามีความสะดวกสบาย และมีความพร้อม คนจะคิดได้เองว่าจะเลือกทางไหน

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาระบบราง แต่ก็ต้องการให้มีการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย โดยเบื้องต้น อาจต้องใช้โอกาสที่ PM 2.5 เข้ามาถล่มเมืองอีกครั้ง ลองประกาศรถยนต์ห้ามเข้าโซนนี้ หรือสลับวันกันเพื่อลดการใช้พลังงานได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"โดดเรียน-ขาดงาน" เดินขบวนจี้รัฐบาล-เอกชนแก้ "โลกร้อน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง