เช้าวันนี้ (24 ก.ย. 62) ผู้สื่อข่าว ไทยพีบีเอสได้รับจดหมายเปิดผนึกจาก ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หัวข้อ ขอเรียกร้องความเป็นธรรมและโปร่งใสในการถูก “ไล่ออก” โดยมีเนื้อหาสำคัญ อ้างถึงเหตุผลที่ไม่ผ่านการประเมินว่า กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่พอใจการแสดงความเห็นของ ผศ.ปวิตร เรื่องการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยในเนื้อหายังยืนยันผลการดำเนินงานของหอศิลป์ ที่ส่งให้ปีนี้มีจำนวนผู้ชมประมาณการสูงว่าทุกปีที่ผ่านมา 1.9 ล้านคน โดยเนื้อหาฉบับเต็มมีดังนี้
เรื่อง ขอเรียกร้องความเป็นธรรมและโปร่งใส ในการถูก “ไล่ออก”
เรียน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ สื่อมวลชนทุกท่าน
ก่อนอื่นผมขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่าง สม่ำเสมอ ทำให้ปัจจุบันนี้มีผู้เข้าชมกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยเฉลี่ยวันละ 5,600 คน และ ประชาชนจำนวนมากก็กรุณาบริจาคเงินสมทบทุนช่วยเหลือ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศก็ มาร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้รายจ่ายของหอศิลปกรุงเทพฯ ลดลงตามลำดับ จากปี 2560 จำนวน 75 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 63 ล้านบาท และปี 2562 นี้ประมาณการไว้ที่ 48 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชมงานปีนี้ ประมาณการว่าจะสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือ 1.9 ล้านคน
ผมขอเรียนให้ท่านทราบว่าผมได้ถูกคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชุดใหม่ (ซึ่งเข้ารับตำแหน่ง อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2562 หลังจากชุดเก่าหมดวาระเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2561) “ไล่ออก” เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2562 (โดยให้ปฏิบัติงานวันสุดท้าย วันที่ 30 ก.ย.2562) ซึ่งเหตุผลหนึ่ง (จากการบอกเล่าด้วยวาจา) ก็คือ กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่พอใจการแสดงความเห็นของผมเรื่องการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
อนึ่ง คณะกรรมการมูลนิธิได้ยื่น ข้อเสนอให้ผม “ลาออก” เพราะ “จะสวยกว่าอยู่แล้ว” ซึ่งผมขอปฏิเสธ และขอให้คณะกรรมการมูลนิธิเปิดเผย รายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของกระผม โดยผมได้แนบรายละเอียดลำดับเหตุการณ์และหลักฐาน จดหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเผยแพร่ข่าวนี้สู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่แท้จริง จักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์
ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผศ.ปวิตร ยังตั้งขอสังเกตว่า คณะกรรมการประเมินไม่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายพอ เมื่อทั้ง 7 คนเป็นศิลปินสายทัศนศิลป์ ทั้งๆที่หอศิลป์กทม.เป็นศูนย์รวมศิลปะหลายแขนง จึงเกิดคำถามต่อเหตุการณ์นี้ว่าเป็น การเมืองกทม. หรือ การเมืองวงการศิลปะ ซึ่งถ้าหากยังไม่มีความชัดเจน จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 ปี หอศิลป์กรุงเทพ บนปากเหวกลุ่มทุน-กทม.
"ถ้า ปชช.ไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่ง" อัศวินยอมถอยยึดคืนหอศิลป์ ?
กทม. งดจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟหอศิลป์กรุงเทพฯ
ร้องนายกฯ สั่งระงับ ผู้ว่าฯ กทม.ยึดคืนหอศิลป์ฯ