ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จ.เชียงใหม่ หามาตรการป้องกันไฟป่าหมอกควัน

ภูมิภาค
25 ก.ย. 62
11:04
1,476
Logo Thai PBS
จ.เชียงใหม่ หามาตรการป้องกันไฟป่าหมอกควัน
หลายฝ่ายคาดว่าปีนี้หมอกควันไฟป่าจะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว จึงเตรียมหามาตรการรองรับ เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้เข้าสู่ฤดูแล้งเร็วขึ้น ปริมาณเชื้อเพลิงสะสมมีอยู่มาก ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ภาคเหนือ ค่าฝุ่น pm2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน 75 วัน

วันนี้ (25 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือ ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 อยู่ในระดับสูงเกินค่ามาตรฐานอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ปีนี้หลายฝ่ายจึงเตรียมมาตรการรองรับ โดยนำวิกฤตหมอกควันที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา

 

น.ส.บุษยา คุณากรสวัสดิ์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า ใน จ.เชียงใหม่ ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในปีที่ผ่านมา ที่ภาครัฐไม่ประกาศภัยพิบัติ และไม่กระจายอำนาจสู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถใช้งบประมาณในการบริหารจัดการได้ ที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาขณะเกิดเหตุ ภาครัฐต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติของฤดูกาลด้วยจึงจะแก้ปัญหาได้

 

 

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หน.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มช. ระบุว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควันในภาคเหนือเกิดจากการเผาไหม้ ทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องบูรณาการร่วมกันในระดับมหาภาค และระดับประเทศ ที่สำคัญภาครัฐต้องทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนถึงอันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้มากที่สุด

 

 

ด้าน นายคมสัน สุวรรณอำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า มาตรการรองรับ ของ จ.เชียงใหม่ ในปีนี้ จะนำประสบการณ์ในปีที่ผ่านมา เป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา โดยเน้นให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้กับประชาชนถึงวิธีป้องกันตนเอง และตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีผลต่อสุขภาพในระยะยาว จัดหาพื้นที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซนให้ประชาชน การบริหารจัดการเชื้อเพลิง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน

 

 

สำหรับปีที่ผ่านมา ตรวจพบจุดความร้อนหรือฮอตสปอตใน จ.เชียงใหม่ กว่า 16,000 จุด ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน 75 วัน และมีพื้นที่ถูกเผาไหม้ไปกว่า 950,000 ไร่ ในจำนวนนี้ร้อยละ 48 เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และร้อยละ 40 เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และในปี 2562 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้เข้าสู่ฤดูแล้งเร็วขึ้น และปริมาณเชื้อเพลิงสะสมยังมีอยู่จำนวนมาก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง