วันนี้ (28 ก.ย.2562) จากกรณี กลุ่มอนุรักษ์นกเงือก เรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ประกาศให้นกชนหิน สัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย หลังพบการลักลอบล่าตัดหัวนก เพื่อนำไปขายในประเทศจีน
นำมาซึ่งการรณรงค์เพื่อลงชื่อผ่านทาง change.org ในหัวข้อ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย” ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 1,962 คน (เวลา 08.50 น.) จากที่ต้องการทั้งหมด 2,500 คน โดยระบุข้อความว่า
นกชนหิน Rhinoplax vigil ถือเป็นสัตว์โบราณและเชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของนกเงือกแห่งเอเชีย ที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อาศัยในป่าดงดิบ และกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของไทย บางส่วนของเมียนมา เรื่อยไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
นกชนหินเป็นนกที่มีลักษณะแปลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง มีจุดเด่นอยู่ตรงโหนกที่ตันต่างจากนกเงือกชนิดอื่น และนั่นเองทำให้ถูกมนุษย์ตีราคาอวัยวะชิ้นนี้ไม่ต่างจากงาช้าง โดยให้ชื่อว่า “งาช้างสีเลือด” กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้มีความเชื่อผิดๆ นิยมบูชางาเป็นวัตถุมงคลแห่งความมั่งคั่ง
เนื่องด้วยในช่วงปีที่ผ่านมามีการพบการค้านกเงือกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะ นกชนหิน Rhinoplax vigil ทางองค์กร TRAFFIC จึงได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษา เพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ เฟซบุ๊ก ทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทย โดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่างๆ การค้าชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ จากนกเงือกนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
สำหรับประเทศไทย โดยข้อมูลที่ TRAFFIC พบจากการสำรวจติดตามเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2561 - เมษายน 2562 มีประเด็นสำคัญดังนี้
- พบการโพสต์เสนอขาย อย่างน้อย 236 โพสต์ ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น ในกลุ่ม 32 กลุ่ม จากทั้งหมด 40 กลุ่มที่ทำการสำรวจติดตาม
- โพสต์ทั้งหมดถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562
- นกชนหิน คิดเป็นสัดส่วน 83% จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด
- แบ่งหมวดหมู่ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกที่ถูกเสนอขายออกเป็น 8 หมวดใหญ่ ได้แก่ โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่นๆ
การล่าพ่อนกหนึ่งตัว นั่นหมายถึงการฆ่ายกครัว เพราะแม่และลูกที่ยังไม่ฝักออกมาจากไข่หรือมีอายุยังน้อยจะไม่สามารถหาอาหารกินเองได้ นอกจากกิจกรรมการล่าแล้ว นกเงือกยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังคงคุกคามพวกมันอย่างต่อเนื่อง ทั้งศัตรูตามธรรมชาติ ภาวะการขาดแคลนโพรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่ออาหารของนก และการทำลายถิ่นอาศัยตามธรรมชาติจากเงื้อมมือมนุษย์
สถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ปัจจุบัน นกชนหินมีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง CriticalEndangeredSpecies จากการจัดสถานภาพของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ของสหภาพว่า ด้วยการอนุรักษ์สากล/ IUCN จำนวนนกชนหินแทบจะหมดไปจาก บอร์เนียว อินโดนีเซีย และพื้นที่อื่นๆทีเคยพบชุกชุม
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้สถานภาพของนกชนหิน ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ชนิดของกลุ่มนกเงือกในไทย คาดว่าจะมีประชากรประมาณ 50-80 คู่ โดยพบการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส ดังนั้นความต้องการทางตลาดจึงพุ่งเป้ามาที่นกชนหินบ้านเรา ขณะนี้เริ่มมีขบวนการล่านกชนหินอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บูโดสุไหงปาดี นราธิวาส กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด อาจไม่สามารถป้องปรามภัยคุกคามนี้ได้ ทำให้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเป็นใยนกชนหินว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า
ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ “สนับสนุนให้นกชนหินเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย” ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนตัวที่ 20 ของประเทศไทย และมีแผนการจัดการ อนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ ร่วมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการ ฟื้นฟูประชากรนกชนหินให้มีจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประกาศนกชนหินให้เป็นสัตว์สงวน จึงจำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทุกพลังของเราจึงมีความหมาย และนี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของนกชนหินที่จะอยู่รอดอย่างยั่งยืนกับคนไทยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถูกสั่งล่า! เสี่ยงสูญพันธ์ุ ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน
กรมอุทยานฯ ดัน "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน
"นกชนหิน" ถูกล่าตัดหัว สังเวยค่านิยมเครื่องประดับ