ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ปอท." เตือนชาวเน็ต รู้ทันสารพัดภัยออนไลน์ พบปี 61 ร้องเรียนกว่า 300 คน

Logo Thai PBS
"ปอท." เตือนชาวเน็ต รู้ทันสารพัดภัยออนไลน์ พบปี 61 ร้องเรียนกว่า 300 คน
หลากมิติภัยออนไลน์ ปอท.เตือนปชช.รู้เท่าทัน กลโกงต่างชาติหลอกรักข้ามฟ้า หลงทุ่มเทเปย์ไม่อั้น ส่วนคดีชาย-หญิงไทย ถูกแบล็กเมล์คลิป-ภาพเปลือยแนวโน้มสูงขึ้น แต่ไม่กล้าแจ้งความ ภาพรวมปี 61 พบร้องเรียนหลากประเด็นกว่า 300 คน กว่า 89 ล้านบาท

ในยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 120 ล้านเลขหมาย ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 70 สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งในจำนวนนี้ ก็ทำให้เกิดภัยออนไลน์ตามมาหลากหลายรูปแบบ โดยในปี 2561 พบว่ามีผู้เสียหายแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มากกว่า 300 คน

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก ปอท.เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยออนไลน์ ทั้งในช่วงที่ผ่านมาและทิศทางภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานโทรศัพท์

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก ปอท.

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก ปอท.

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษก ปอท.

 

หนึ่งในประเด็นภัยออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยในช่วงปี 2562 นี้ คือ การแสวงหาความรักจากออนไลน์ แล้วกลับต้องสูญเสียเงินเสียความรู้สึกในโลกความเป็นจริง ชีวิตที่ไม่อาจเลี่ยงได้ของใครหลาย ๆ คน “ความรัก” “ความเหงา” และ “ต้องการใครสักคน” ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนในโลกออนไลน์แสวงหาคนรู้ใจ แม้ไม่เคยเห็นตัวตน การหลอกลวงแบบนี้ เรียกว่า “หลอกรักออนไลน์” หรือ Romance SCAM โดยข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค. - ส.ค.2562 พบมีผู้ร้องเรียน ปอท.จำนวน 58 คน มีความเสียหายจากการถูกหลอกให้โอนเงินกว่า 51.7 ล้านบาท ส่วนปี 2561 มีผู้ร้องเรียน 102 คน มีความเสียหายกว่า 71.1 ล้านบาท

 

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ระบุว่า กรณี "โรแมนซ์ สแกม" เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว และยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุเป็นชาวผิวสี สัญชาติไนจีเรีย โดยร่วมทำเป็นขบวนการกับชาวไทยใช้วิธีปลอมข้อมูล โปรไฟล์ ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยนำภาพของชาวต่างชาติมาใช้ในการหลอก เช่นนำ ภาพของชาวยุโรป หรือ อเมริกา มาใช้เป็นภาพแสดงตัวตน พร้อมทั้งสร้างโปรไฟล์เพื่อให้เห็นว่า มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เลิศหรู ไฮโซ เช่น ล่องเรือยอร์ช จิบไวน์ ตีกอล์ฟ จากนั้นจะมีเหตุการณ์ขึ้น เช่น ภรรยาคู่ชีวิตเสียชีวิตจึงต้องการมีแฟนคนไทย อยากมีภรรยาคนไทยที่น่ารัก อบอุ่น จากนั้นจะเข้ามาแอดชื่อเพื่อหาคนไทย หรือ หาในเว็บหาคู่ต่าง ๆ เมื่อได้ผู้ที่จะพูดคุยด้วยแล้วก็จะเปลี่ยนคำเรียกชื่อ เป็น "ดาร์ลิ้ง" บ้าง "สวีทฮาร์ท" บ้าง ทั้งที่ไม่เคยพบตัวจริง

4 ประเด็นหลอกสาวไทย

ทั้งนี้จะมีการพูดคุยด้วยการแชทข้อความเพื่อทำให้ฝ่ายหญิง หรือ ผู้เสียหายรู้สึกดี จนเกิดเป็นความรักในโลกออนไลน์ ซึ่งฝ่ายหญิงมักที่จะเข้าใจว่า ผู้ก่อเหตุมีประวัติที่ดูดี และกลุ่มที่หลอกลวง หรือมิจฉาชีพ (สแกมเมอร์) เหล่านี้ มักสร้างอาชีพที่ดูดีมาหลอกเช่นกันว่า เป็นแพทย์ สถาปนิก วิศวกร นักธุรกิจ ทหารเกษียณ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมที่สร้างมาเพื่อหลอกลวง จากนั้นเมื่อเกิดความรักดื่มด่ำกันในโลกออนไลน์แล้ว มิจฉาชีพจะสร้างเรื่องราวมาหลอกเอาเงินจากหญิงไทยโดยหลักมี 4 ประเด็น คือ

1.บอกว่าตัวเองป่วย หรือ ลูกป่วย แต่มีปัญหาเรื่องประกันภัยที่ประเทศของเขา ไม่สามารถนำเงินประกันไปรักษาอาการเจ็บป่วยได้ จึงขอเงินผู้เสียหายมาเป็นค่ารักษาพยาบาล และด้วยความที่ผู้เสียหายเกิดความรักไปแล้วจึงหลงเชื่อโอนเงินไปช่วยเหลือ

 

2.การอ้างมาในทำนองว่า ได้มรดกจากพ่อหรือแม่ เป็นจำนวนมากหลักหลายร้อยล้านเหรียญ หรือ ร้อยล้านปอนด์ แต่หลอกผู้เสียหายว่าที่ประเทศของจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการนำเงินมรดกออกมาใช้ ซึ่งหากได้เงินมรดกจำนวนมหาศาลมาก็จะนำเงินไปแต่งงาน และใช้ชีวิตร่วมกับผู้เสียหาย แต่ขอให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าธรรมเนียมไปให้ก่อนและด้วยความรักผู้เสียหายจึงโอนเงินให้

3.กลุ่มมิจฉาชีพที่แสดงตัวเป็นนักธุรกิจ อ้างว่าได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ สัมปทานน้ำมัน หรือกรณีอื่นซึ่งเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมา และต้องเสียค่าธรรมเนียมสัมปทานเพื่อจ่ายให้กับรัฐ และต้องการให้ผู้เสียหายโอนเงินให้และจะมีรายได้จากสัมปทานดังกล่าวเพื่อที่จะได้ร่ำรวบเป็นมหาเศรษฐีไปด้วยกัน จากนั้นจะแบ่งเงินให้ผู้เสียหายใช้ โดยมิจฉาชีพเรียกผู้เสียหายว่า "ที่รัก" หรือ "ดาร์ลิ้ง" ทำให้หลงเชื่อและโอนเงินให้

4.การชวนแต่งงาน ซึ่งกลุ่มนี้เกิดขึ้นบ่อยมากสุด โดยเมื่อพูดคุยกันเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งมิจฉาชีพจะชวนผู้เสียหายแต่งงาน และแจ้งว่า กำลังจะเดินทางมาเมืองไทย รวมถึงส่งรูปทรัพย์สินมีค่ามาให้ดู เช่น เพชรนิลจินดา หรือเงินสด โดยภาพเหล่านี้ มิจฉาชีพจะนำภาพมาจากอินเทอร์เน็ตมาให้ผู้เสียหายดู เมื่อผู้เสียหายเห็นว่ามีเงินจริงจากภาพที่เห็น แต่สักระยะหนึ่งจะมีการโทรศัพท์แจ้งเข้ามา อ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรว่า ได้เอกซเรย์พัสดุที่ส่งมาจากผู้เสียหายแล้วเป็น เพชรนิลจินดา ทอง หรือเงินสด และจะถูกหลอกให้โอนเงินช่วยเหลือจ่ายค่าภาษีศุลกากรจึงจะนำของออกมาจากกรมศุลกากรได้ ซึ่งเมื่อผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงก็จะโอนเงินให้

ผู้ที่มาแจ้งกับ ปอท.มีผู้เสียหายวงเงินมากที่สุด 31 ล้านบาท ซึ่งบางคนต่อให้มาแจ้งที่ ปอท.แล้ว ก็ยังไม่เชื่อว่าถูกหลอก ซึ่งการนำความรักมาหลอกเหยื่อ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางคนรักไปแล้วก็ยอมได้ทุกอย่าง

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พบคือผู้เสียหายเหล่านี้จะไม่เคยเห็นตัวจริง โดยจะเห็นเพียงภาพในโซเชียลมีเดีย หรือจะเรียกว่า ภาพไม่ตรงปกก็คงจะไม่ผิด บางครั้งจะเป็นภาพของชายชาวต่างชาติ ผิวขาว หน้าตาดี และเมื่อติดตามตัวได้ก้พบว่า เป็นคนละคน โดยพบว่าชาวแอฟริกาบ้าง สัญชาติอื่นบ้าง ทั้งนี้ กลุ่มที่เป็นมิจฉาชีพ ส่วนใหญ่จะทำเป็นขบวนการ มีการปลอมตัว และจะหลอกผู้เสียหลายเวลาใกล้เคียงกันพร้อมกันหลายคน ซึ่งพบว่า มิจฉาชีพมีทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและบางคนอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจะใช้วิธีประสานจากการทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศ 

ครั้งหนึ่งติดตามจนพบหลักฐานเป็นสมุดไดอารี่ เมื่อตรวจดูสมมติว่าใช้ชื่อ "จอห์นสัน" เขียนข้อความระบุว่า ขณะนี้หลอกผู้เสียหายไปถึงขั้นนี้แล้ว พลิกไปอีกหน้าหนึ่งใช้ชื่อ "ทอมมี่" จดไว้พบว่า ผู้เสียหายติดเบ็ดแล้ว พลิกไปพบว่าใช้ชื่ออื่น ๆ อีกมาก ซึ่งในระยะเวลาเดียวกันเขาหลอกมากว่า 1 คน 


ขณะที่การหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ แม้มีผู้แจ้งความจำนวนน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 แต่กลับพบว่า ตัวเลขความเสียหายเฉพาะ 8 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงกว่าปี 2561 โดยปีนี้มีผู้เสียหายแจ้งต่อ ปอท.แลัว 620 คน มูลค่าความเสียหายเกือบ 135 ล้านบาท

 

โฆษก ปอท.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ คือการเจาะระบบเฟซบุ๊ก (แฮก) แล้วหลอกให้โอนเงิน ซึ่งการกระทำลักษณะนี้พบว่า เกิดจากการแฮกเข้าไปในบัญชีของผู้เสียหายจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เสียหาย จากนั้นยึดบัญชี หรืออีกวิธีคือการนำภาพของผู้เสียหายไปปลอมเพื่อสร้างบัญชีเฟซบุ๊กใหม่ จากนั้นจะสร้างเรื่องราวเพื่อหลอกให้โอนเงิน เช่น บางครั้งเป็นการขอยืมเงินจำนวนไม่มาก เช่น การขอยืมเพื่อซื้อบัตรเติมเงิน ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องมีการตั้งข้อสังเกต เนื่องจากจำนวนเงินที่ขอยืมไม่มากแต่พบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก ดังนั้น หากประชาชนสงสัยว่า อาจถูกหลอกให้โอนเงิน ควรโทรศัพท์สอบถามเพื่อน หรือ ผู้ที่รู้จักซึ่งใช้บัญชีนั้น ๆ หรือ หากโทรศัพท์ติดต่อไม่ได้ ให้ใช้วิธีการแชทสอบถามข้อมูลที่ทราบกันเพียง 2 คน ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่ากำลังจะถูกหลอกหรือไม่ 

รับแอดฯเพื่อนไม่อั้นเสี่ยงตกเป็นเครื่องมือ 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจาก การรับแอดเพื่อนในเฟซบุ๊กโดยไม่จำกัดจำนวน เนื่องจากผู้ที่รับแอดเพื่อนจำนวนมากจะมีความสุขจากการรับเพื่อนจำนวนมาก โดยไม่ทราบว่า บุคคลนั้นคือใคร แต่ในมุมของมิจฉาชีพคือจะเข้ามาสอดส่อง ตรวจดูข้อมูลของผู้เสียหาย จากนั้นจะไปสร้างบัญชีเฟซบุ๊กใหม่โดยให้ชื่อของผู้เสียหาย จากนั้นไปไปขอแอดเป็นเพื่อนของเพื่อน ซึ่งเมื่อเพื่อนเห็นก็จะเข้าใจว่ามีการใช้งานบัญชี 2 บัญชีและคิดว่าไม่มีปัญหาและตอบรับเป็นเพื่อนกับบัญชีใหม่ที่มิจฉาชีพแอดเข้ามา จากนั้นหากเมื่อผู้เสียหายตัวจริงไปใช้บัญชีเฟวบุ๊กโดยเช็กอินสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น เช็กอินที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ แต่บัญชีเฟซบุ๊กของมิจฉาชีพที่ปลอมขึ้นมาก็จะใช้วิธีการทักไปโดยแบกว่า ถูกล้วงกระเป๋าที่ จ.เชียงใหม่ และเมื่อเพื่อนของผู้เสียหายเห็นว่า เช็คอินอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็จะไม่ได้ระวังตัวก็จะโอนเงินไปให้มิจฉาชีพที่ใช้บัญชีปลอมแทน ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งประชาชนที่ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ควรเพิ่มความระมัดระวัง

 

นอกจากนี้ ยังมี กรณีของคู่รัก ที่อาจจะมีการถ่ายภาพลับ คลิปลับ และเมื่อทะเลาะและเลิกรากันโดยไม่ดี ก็จะมีการนำภาพลับเหล่านี้ไปปล่อยในเว็บอนาจาร หรือ กลุ่มไลน์ต่าง ๆ ซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง หรือหากไม่ได้มีการทะเลาะ แต่ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเมื่อมีการเปลี่ยนโทรศัพท์รุ่นใหม่ โดยนำเครื่องเก่าไปขายที่ร้าน ซึ่งแม้ว่าจะลบข้อมูลในเครื่องไปหมดแล้ว แต่ก็มีโปรแกรมที่สามารถดึงข้อมูลเก่าออกมาได้ ซึ่งหากไม่เจอก้บร้าน หรือ ช่างซ่อมโทรศัพท์ที่ไม่หวังดี ก็จะถูกกู้ภาพมาปล่อยหรือนำไปขายได้

ขอแนะนำว่า โปรดอย่าถ่ายภาพลับ หรือ คลิปลับใด ๆ เด็ดขาด เพราะเมื่อมันไปปรากฏในโลกออนไลน์แล้วมันก็จะอยู่ตลอดไป

โฆษก ปอท. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาที่พบแนวโน้มมากขึ้น คือ กรณีผู้เสียหายที่เป็นชายไทยและมิจฉาชีพเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งจะทักมาพูดคุยจนกระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อจากนั้นจะชวนขอให้ผู้เสียหายสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองให้ดูผ่านกล้อง โดยส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะเป็นผู้ชายมีประวัติน่าสนใจ มีฐานะการงานที่มั่นคง รักครอบครัว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อและกระทำกาารตามที่มิจฉาชีพหลอก ก็จะถูกเรียกเงินประมาณ 20,000 - 30,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายกลุ่มนี้จะเกิดความอับอายทำให้ไม่กล้าแจ้งความและมักโอนเงินให้มิจฉาชีพเนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหา

หลอกออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ระบุว่า การหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์จำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทุกคนมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงยังมีบัญชีธนาคารออนไลน์ เชื่อมกับโทรศัพท์มือถือ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกเจาะหรือเข้าระบบโดยไม่ถูกต้องของผู้ก่ออาชญากรรม กลุ่มเป้าหลายที่ถูกหลอกมีหลากหลายตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทั่วไป และผู้สูงวัย ซึ่งวัยรุ่นอาจถูกหลอกขายไอเทมเกม หรือ ผู้สูงอายุอาจถูกหลอกขายสินค้าต่าง ๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปอท.มีบุคลากรประมาณ 160 คน รับผิดชอบภารกิจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ที่ผ่านมาก็มีความพยายามปรับทั้งส่วนบุคลากรที่ส่งไปอบรมต่างประเทศเพื่อรองรับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีหลายกรณีที่มิจฉาชีพอยู่ต่างประเทศ แต่ผู้เสียหายเป็นคนไทยอยู่ในประเทศไทยทาง ปอท.จะประสานการทำงานร่วมกับตำรวจสากล องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization : INTERPOL) หรือ อินเตอร์ โปล โดยแต่ละกรณีจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ซึ่งการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั้้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว

โฆษก ปอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชญากรรมทุกอย่างมีร่องรอย เจ้าหน้าที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อติดตามโดยมิจฉาชีพเองก็พยายามที่จะพบยายามปกปิดตัวเองในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งมิจฉาชีพที่ถูกติดตามจับกุมได้มีหลายระดับ รูปแบไที่ไม่ซับซ้อนนักจะเป็น การใช้บัญชีธนาคาร 1 บัญชี จากนั้นนำสินค้า หรือ ใช้ภาพมาเพื่ออหลอกขาย

ขณะที่รับดับที่คอ่น้ขางยาก คือ ผู้ที่มีความรู้ระดับแฮกเกอร์เชี่ยวชาญด้านการเจาะข้อมูล หรือ การทำบัญชีใช้งาน รวมถึงบัญชีการเงินที่สลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ยากยากต่อการติดตาม แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็พยายามติดตามจนเจอตัวผู้กระทำผิด ขณะนี้บัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีการใช้บัญชีปลอม หรือที่เรียกว่า "อวตาร" ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้ และนำไปใช้ให้ร้าย หลอกลวงผู้อื่น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการติดตามสืบสวน 

3 กลุ่มเสี่ยง  

สำหรับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในประเทศไทยตามที่ ปอท. แบ่งกลุ่ม มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มแรกเสี่ยงต่อการสูญเสียระบบ คือการถูกเจาะระบบ หรือถูกเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ การตั้งบัญชีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียควรทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ยาก ควรใช้โปรแกรมที่ถูกต้อง เนื่องจากผู้ใช้งานบางคนใช้โปรแกรมปลอม หรือ โหลดจากเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้ถูกเจาะข้อมูลได้ง่าย กลุ่ม 2 คือการเสียเงิน เพราะถูกหลอกลวง, ฉ้อโกงออนไลน์ และกลุ่มที่ 3 การนำเข้าเนื้อหาสู่ออนไลน์ ซึ่งควรระมัดวังว่า ตนเองไม่ตกเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ต่อ เมื่อรับข้อมูลมาแล้ว ให้ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ราชการ หรือ สำนักข่าวที่เชื่อถือได้ ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่หลอกลวงได้

คาถาป้องกันการถูกหลอกในโลกออนไลน์ คือ "อย่าเชื่อ อย่าโลภ อย่าละเลย ควรท่องไว้เพื่อไม่ให้คนเองตกเป็นผู้เสียหาย

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ได้ฝากข้อคิด เพื่อช่วยให้ป้องกันไม่ให้ถูกหลอกได้คือ “3 อย่า” คือ 1.อย่าเชื่อ อย่าไว้ใจ เช่น เมื่อพบเห็นโฆษณา ให้นำข้อมูลนั้นไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตก่อนว่าชื่อร้านเหล่านี้ หรือ บุคคลที่โฆษรา ได้เคยโกงหรือหลอกลวงบุคคลอื่นมาก่อนหรือไม่

2.อย่าโลภ อย่าเห็นแก่สินค้าราคาถูก หรือ การชวนลงทุนที่ให้ผลกำไรมากในโลกออนไลน์ และ 3.อย่าละเลยข้อมูลข่าวสาร ควรหม่นศึกษาหรือเฝ้าระวัง วิธีการที่ีมิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงหรือก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกลวง

 

ภัทราพร ตั๊นงาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง