วันนี้(1 ต.ค.2562) จากปัญหาฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑล ที่เกินค่ามาตรฐานจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุดศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เผยแพร่ข้อมูล แผ่นกรองจากเส้นใยนาโน ผลงานวิจัยดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน และคณะจากนาโนเทค
งานวิจัยดังกล่าวพัฒนาเส้นใยและเทคโนโลยีการขึ้นรูปสิ่งทอให้เป็นแผ่นกรองจากเส้นใยนาโนสมบัติพิเศษด้วยเทคนิคที่เรียกว่า อิเล็กโตรสปินนิ่ง ทำให้ได้เส้นใยขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นรูพรุนขนาดเล็กจำนวนมาก มีสมบัติสามารถดักจับอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาดระหว่าง 0.3-2.5 ไมครอน
เทคโนโลยีดังกล่าว ถูกต่อยอดให้อยู่ในรูปแผ่นกรอง ซึ่งนักวิจัยระบุว่า สามารถนำไปใช้ผลิตร่วมกับหน้า กากอนามัยแบบธรรมดา อีกทางเลือกของการนำเทคโนโลยีสิ่งทอสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด เพื่อเพิ่มสมบัติพิเศษและให้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ดักจับฝุ่นขนาด 0.3–2.5 ไมครอนได้ถึง 90-95%
โดยเฉพาะแผ่นกรองนาโนแบบ n-Breeze Anti PM 2.5 ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยธรรมดายังคงมีน้ำหนักเบา รูปแบบการใช้งานสะดวก และยังสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
จากการทดสอบแล้วในระดับห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถกรองอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศขนาด 0.3–2.5 ไมครอนได้อยู่ที่ระหว่าง 90-95%
นอกจากนี้ เทคโนโลยีการขึ้นรูปดังกล่าว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การนำไปใช้กับเครื่องฟอกอากาศ ทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรมยนต์ หรือแม้แต่สถานพยาบาล จากการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบมัลติฟังก์ชั่นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านอื่นๆ อาทิ การสะท้อนน้ำ ป้องกันรังสียูวี ความสามารถในการกรองเชื้อแบคทีเรียบางชนิด แต่ยังคงมีน้ำหนักเบา คงทนแข็งแรง และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานเช่น EN 149 จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่น PM 2.5 เริ่มกระทบสุขภาพ 22 พื้นที่ "กทม.-ปริมณฑล"