วันนี้ (2 ต.ค.2562) นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึงโครงการ "ชิมช้อปใช้" ที่มีผู้ลงทะเบียนเต็มโควตาตลอด 10 วันที่ผ่านมาว่า ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนโครงการดังกล่าวได้ จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เพราะการลงทะเบียนที่ผ่านมา จะมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เฉลี่ยวันละ 2 แสนคน ซึ่งจำนวนโควตาที่ว่างลง จะนำไปให้ผู้ลงทะเบียนรายถัดไป จนกว่าจะครบจำนวน 10 ล้านคน
สำหรับผู้ลงทะเบียนสำเร็จขณะนี้ มีประมาณ 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันแล้วกว่า 4.7 ล้านคน แต่มีผู้ติดตั้งแอปลิเคชั่นและยืนยันตัวตนสำเร็จ เพียง 2.7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ติดขัดขั้นตอนการถ่ายรูปยืนยันตัวตน ซึ่งอาจอยู่ในสภาพแสงสว่างมากเกินไป หรือ ผิดตำแหน่งเกิดเงา หรือสมาร์ทโฟน ทำการปรับแต่งภาพอัตโนมัติ ส่งผลให้ระบบไม่สามารถตรวจจับความถูกต้องของใบหน้าได้ชัดเจน ทำให้ ธนาคาร จะทำการปรับปรุงระบบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
พร้อมย้ำว่า โครงการนี้ ไม่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะยอดใช้จ่ายในห้างค้าปลีก ตลอด 7 วันที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 22 หรือ ประมาณ 142 ล้านบาท จากยอดใช้จ่ายมั้งหมด 628 ล้านบาท
ส่วนยอดการจับจ่ายในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2 ซึ่งได้รับเงินคืนร้อยละ 15 มีประมาณ 7.5 ล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 2,000 คน คิดเป็นเงินเฉลี่ยคนละ 2,500 บาท และยังคงเชื่อว่า โครงการฯ จะช่วยกระตุ้นจีดีพีไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.2-0.3 ซึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายในกระเป๋าเงินช่องที่ 2 เป็นหลัก และกระจายสู่ธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น ในระยะต่อไป แม้ขณะนี้ ยอดการใช้จ่าย ยังกระจุกตัวใน กรุงเทพฯ และภาคกลาง
การประเมินว่า ชิมช้อปใช้ กระตุ้นจีดีพีเพียง 0.01-0.02% ถือว่าประเมินต่ำเกินไป เพราะยอดการจับจ่ายที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพียง 5 วัน จากคนไม่กี่ล้านคน แต่หากประชาชนเข้าใจระบบทำงานของแอปฯ มากขึ้น และทยอยเติมเงินเข้ากระเป๋าที่2 จะช่วยกระตุ้นจีดีพีไม่น้อยกว่า 0.2-0.3%
ส่วนการขยายโครงการชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ระบบ มีความพร้อมรองรับการเพิ่มจำนวนจังหวัด และระยะเวลาที่อาจลากยาวมากขึ้นถึงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะเพิ่งเริ่มมาตรการ และยังมีผู้ใช้สิทธิไม่เต็มโควต้า 10 ล้านคน คาดว่าจะได้ความชัดเจน ภายในเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายนนี้
ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวคิดการขยายผลมาตรการ ชิมช้อปใช้ ระยะที่ 2 ถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรทำต่อเนื่องนานเกินไป เพื่อกระตุ้นพฤติกรรม และควรมีผลการศึกษาเฟสแรกรองรับ ก่อนทบทวนมาตรการ เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วงปลายปี เอกชนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
เช่นเดียวกับ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.พร้อมสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หากมีชิมช้อปใช้ในเฟส 2 เพราะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นพฤติกรรมการใช้จ่าย ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ แต่การออกมาตรการใดๆ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมช่วงเวลา และให้สิทธิได้เท่าเทียมกัน โดยไม่ควรจำกัด หรือเงื่อนไขซับซ้อนเกินไป