วันนี้ (6 ต.ค.62) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย ถึง นโยบายการบริหารสภาทนายความด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หลังจากที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสภาทนายความฯ ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 ว่า คณะกรรการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้ผลักดัน “โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ (โรงพัก)” ผ่านมติ ครม.แล้ว ซึ่งเป็นโครงการนำร่องความร่วมมือสภาทนายความฯ ,กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ปนะหยัดค่าใช้จ่าย เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.62 โดยจัดให้มีทนายความช่วยเหลือประชาชนประจำตามสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่มีปัญหาด้านกฎหมายสามารถมาปรึกษาทนายความที่สถานีตำรวจได้
ขณะนี้มีทนายประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศแล้ว ประมาณ 150 แห่ง ในพื้นที่ กทม. มีทนายความอาสาประจำประมาณ 35 สถานี ส่วนที่เหลือก็กระจายตามต่างจังหวัดประมาณ 115 สถานี ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนสภาทนายความ โทร. 1167
ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
"เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทนายความสามารถให้คำปรึกษาได้ทั้งข้อกฎหมายคดีแพ่ง-คดีอาญา และให้คำปรึกษาทั้งผู้ที่อยู่ในฐานะผู้เสียหายหรือฐานะผู้ต้องหาด้วย " ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ กล่าว
ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ กล่าวถึง ทนายความที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมด้วยว่า หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบได้ พร้อมยอมรับ ว่า ที่ผ่านมาเคยมีกรณีทนายความถูกลงโทษตามข้อบังคับมรรยาททนายความ เช่นกัน ตัวอย่างในกรณีตระบัดสินลูกความ หรือ การฉ้อโกงเงินลูกความ คือ กรณีของนายพิสิษฐ์ ที่ฉ้อโกงเงินน้องบีมไป (เงิน 5 ล้านบาทที่ได้ชดใช้ในคดีเด็กหญิงประสบอุบัติจนพิการนั่งวิลแชร์) ซึ่งถูกลงโทษสูงสุดคือการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ในทางอาญาถูกดำเนินคดีและได้รับโทษจำคุก