ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปักหลักรอ! ลุ้น 7 ต.ค.นี้ สทน.แจงปมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย

ภูมิภาค
6 ต.ค. 62
16:52
1,318
Logo Thai PBS
ปักหลักรอ! ลุ้น 7 ต.ค.นี้ สทน.แจงปมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย
ชาวองครักษ์ ปักหลักหน้าสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ค้านโครงการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย 20 เมกะวัตต์ เตรียมเข้าพบผู้บริหารสถาบันฯ ชี้แจงข้อกังวลพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) พร้อมขอให้ทบทวนห่วงซ้ำรอยปัญหาทุจริตแบบโครงการในอดีต

วันนี้ (6 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในนามเครือข่าย “คนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ” ปักหลักพักค้างบริเวณด้านหน้า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. อ.องครักษ์ จ.นครนายก แสดงออกร่วมกันถึงการคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ขนาด 20 เมกะวัตต์ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตั้งของ สทน.

ตลอดทั้งวันเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน และสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่องครักษ์ ถึงวัตถุประสงค์การออกมาคัดค้านโครงการฯโดยตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น ทั้งประเด็นพื้นที่ตั้งโครงการ ที่พบว่า ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ใกล้แม่น้ำนครนายก เสี่ยงต่อน้ำท่วม ถือว่าขัดต่อหลักเกณฑ์ที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA กำหนดไว้ สำหรับที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย

ขณะที่กระบวนการรับฟังความโครงการฯ ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง (ค.1 และ ค.2) พบว่าอาจไม่มีความโปร่งใส ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย รวมถึงขอบเขตการรับฟังความเห็นไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ทั้งยังเห็นว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ ภายใต้งบประมาณก่อนสร้างกว่า 16,000 ล้านบาท อาจไม่คุ้มค่า หากเทียบกับความเสี่ยงจากนิวเคลียร์ หรือ กากนิวเคลียร์ ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังอาจเสี่ยงต่อปัญหาการทุจริตโครงการฯ ซึ่งในอดีตเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วเคยมีบทเรียน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องยุติโครงการฯ ขนาด 10 เมกะวัตต์ ไปก่อนหน้านี้

เรียกร้องสทน.ทบทวนโครงการห่วงซ้ำรอย

เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและยุติโครงการฯ นี้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.62) ทางเครือข่ายฯ จะเข้าพบผู้บริหาร สทน. เพื่อขอความชัดเจนในหลายประเด็น เช่น สถานที่จัดเก็บกากกัมตรังสี เอกสารการรับฟังความเห็นที่ผ่าน เอกสารการจัดทำ TOR โครงการ และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจาก สทน. ระบุถึงภารกิจหลักของโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ขนาด 20 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการขยายขีดความสามารถการผลิตสารไอโซโทปรังสี  สารเภสัชรังสี เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น รังสีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ใช้เพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม

 

ก่อนหน้านี้ นายพรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติฯ ได้มีหนังสือชี้แจงไปยังผู้ว่าฯ นครนายก และเครือข่ายฯ ลงวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงถึงข้อกังวลของเครือข่ายฯ ระบุวัตถุประสงค์ความจำเป็นของโครงการฯ

ทั้งยังยืนยันว่า โครงการฯ นี้ ยังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่างรายงานการประเมินดังกล่าว เพื่อประกอบการรับฟังความเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 (ค.3) ยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่สามารถจัดเวที ค.3 ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง