ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ชวนคนไทยไม่พึ่งเขี้ยวงา

สิ่งแวดล้อม
7 ต.ค. 62
19:04
1,007
Logo Thai PBS
“ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ชวนคนไทยไม่พึ่งเขี้ยวงา
องค์กรไวล์ดเอดและ USAID เปิดตัวพระ ว.วชิรเมธี, บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, ท็อป ดารณีนุช ทูตแคมเปญ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” แนะคิดดี ทำดี ไม่ต้องพึ่งเขี้ยวงาคุ้มครอง ขณะที่กรมอุทยานฯ ย้ำคุมเข้มมาตรการป้องกันและปรามปราบค้าสัตว์ป่า แม้ไทยถูกปลดพ้นแบล็กลิสต์ค้างาช้าง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรไวล์ดเอด (WILDAID) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐเมริกา (USAID) เปิดตัวโครงการรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ไม่พึ่งเขี้ยวงา พร้อมเปิดตัวทูตโครงการ ได้แก่ พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี), บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษมูลนิธิร่วมกตัญญู และดารณีนุช ปสุตนาวิน พิธีกรและนักแสดง เพื่อลดความต้องการผู้ซื้อ หรือใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า เช่น ซากเสือโคร่ง งาช้าง และขอให้เชื่อมั่นในการกระทำของตัวเอง ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ป่า เพียงเชื่อว่าจะทำให้โชคดีหรือปกป้องคุ้มครอง

 

พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) กล่าวว่า ต้องการให้ประชาชนหันกลับมาเชื่อในการกระทำ ว่า “คิดดี พูดดี ทำดี” ชีวิตก็จะดีขึ้น แม้ไม่มีเขี้ยว เล็บของสัตว์ป่าแม้แต่ชิ้นเดียว ส่วนกรณีที่บางวัด หรือพระบางรูป ปลุกเสกผลิตภัณฑ์อ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลัง อาจเกิดจากบางวัดที่ไม่ค่อยรู้เรื่องพระพุทธศาสนา หรือพระสงฆ์ที่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า เพราะพระสงฆ์ที่ดีต้องไม่ส่งเสริมการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์

คุณไปฆ่าแล้วเอาอวัยวะของเขามาประดับกาย ประดับคอ บอกว่าเป็นของมงคล แค่คิดก็ไม่เป็นมงคล เป็นอัปมงคลด้วยช้ำไป

ขณะที่บิณฑ์ เคยเชื่อและใช้ผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า เพราะเชื่อว่าสามารถปกป้อง หางาน หาเงินมาให้ บอกว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นความคิดผิดๆ ในสมัยก่อน พร้อมย้ำว่าทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของแต่ละคน หากคิดดี ทำดี ความดีก็จะปกป้องตัวเอง อย่างมงายกับเขี้ยวเสือ งาช้าง เพราะทุกชีวิตมีค่า

ผมเคยเสียเงินหลายแสนซื้องาช้าง แต่สุดท้ายก็หายไป บ้านคนรวยมีทั้งหนังเสือ เขี้ยว งาช้าง สุดท้ายถูกไฟไหม้ ไม่ได้คุ้มครองบ้านอะไรเลย

เข้มปราบปราม แม้พ้นแบล็กลิสต์ค้างาช้าง

ด้านนายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะเฝ้าระวังการค้างาช้างผิดกฎหมายต่อไป แม้จะไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายแล้ว และจะดำเนินมาตรการเสือในกรงเลี้ยงอย่างรัดกุม ป้องกันการค้าเสือและผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ตามที่ได้รับรายงานต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ครั้งที่ 18 ซึ่งการแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายต้องบังคับใช้กฎหมายควบคู่การรณรงค์ เพื่อลดความต้องการของผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า ไม่ได้ช่วยในด้านใดเลย มีแต่ทำให้เสือตายเพิ่มขึ้น

ขณะนี้มีคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าจากผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าและส่งออกรายใหญ่มีน้อยมาก เพราะเส้นทางการค้าเปลี่ยนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังไทยดำเนินการตรวจค้นจับกุมเข้มงวด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิด ส่วน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน พ.ย.นี้ เพิ่มโทษผู้ค้า นำเข้า หรือส่งออกซากสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้ ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย โดยโครงการ USAID Wildlife Asia ปี พ.ศ.2561 พบว่า คนไทยในเขตเมือง ร้อยละ 2 หรือ 500,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และร้อยละ 1 หรือ 250,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง

นอกจากนี้ ร้อยละ 3 หรือ 750,000 คน มีความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในอนาคต และร้อยละ 10 หรือ 2.5 ล้านคน มองว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้างยังเป็นที่ยอมรับในสังคม ในขณะที่ร้อยละ 7 หรือ 1.8 ล้านคน เห็นว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ โดยเหตุผลหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่างาช้าง “นำความโชคดีมาให้” “ป้องกันอันตราย” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์” ส่วนผู้ซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากเสือมีแรงจูงใจหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่า “ป้องกันอันตราย มีพลังปกป้องคุ้มครอง” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง