เช้าวันนี้ (8 ต.ค.2562) ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฏร ได้แจ้งเรื่องนี้ให้ที่ประชุมรับทราบด้วย เนื่องจากคณะทำงาน 4 ฝ่าย มีตัวแทนของคณะกรรมาธิการฯ อยู่ร่วมด้วย เช่น นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการแบน 3 สารเคมี นำไปสู่มติของคณะทำงาน 4 ฝ่ายเมื่อวานนี้
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ปธ.กมธ.วิสามัญฯ เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาวาระต่อเนื่องการขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาผลกระทบและการควบคุมการใช้สารเคมี โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานภาครัฐมาชี้แจง แบ่งเป็นช่วงเช้า คือ ตัวแทนจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ตัวแทนคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและการร้องเรียนผลที่เกิดจากการใช้สารเคมี และอีกหน่วยงานคือ กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฏร เพื่อส่งมอบงานให้หลังจากการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะสิ้นสุดในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ตามกรอบระยะเวลาศึกษา 60 วัน
ส่วนช่วงบ่ายวันนี้ ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนอีก 3 คน ร่วมเสนอแนะความคิดเห็นต่อประเด็นการควบคุมสารเคมี ได้แก่ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อสอบถามแนวทางและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ ยืนยันว่า จะไม่พิจารณาสารเคมีที่จะมาใช้ทดแทนการแบน 3 สารเคมี แต่จะเสนอความคิดเห็นรูปแบบ หรือวิธีการทดแทนอื่น สู่เป้าหมายให้การทำการเกษตรของประเทศไทย เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญนอกจากการแบน 3 สารเคมี คือ กรรมมาธิการวิสามัญฯ พบปัญหาการนำเข้าผักจากประเทศจีน ผ่านด่านที่ท่าเรือเชียงของ ว่า ไม่มีห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของผักที่นำเข้ามา และส่งต่อไปที่ตลาดสี่มุมเมือง โดยจะเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ปัญหาดังกล่าว
ส่วนการเดินหน้าผลักดันพื้นที่เกษตรปลอดภัย ทางคณะกรรมาธิการจะลงพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี เพื่อดูตัวอย่างแปลงเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี นำมาสู่การจัดทำความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอกระทรวงเกษตรแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของการประชุมมีการตั้งคำถามทั้งจากคณะกรรมาธิการ และโควตากรรมาธิการจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกี่ยวกับข้อกฎหมายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ว่า จะสามารถเอาผิดบริษัท หรือบุคคลที่ทำให้สารเคมีแพร่กระจายจนประชาชน ในฐานะผู้บริโภคและเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีได้หรือไม่ แต่ตัวแทน สคบ. ยืนยันว่า เบื้องต้นดูแลเฉพาะสินค้าที่ได้รับร้องเรียน และทำให้นายปลอดประสพ หนึ่งในกรรมาธิการ เสนอให้ สคบ.พิจารณาผลกระทบที่เกิดกับประชาชาชนด้วย แต่หาก กมธ.วิสามัญฯ ต้องการให้ สคบ. ดูแล ต้องไปรายงานผู้บริหาร สคบ.ให้รับทราบ