วันนี้ (9 ต.ค.2562) นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat โดยตั้งข้อสังเกตถึงการนำถุงบิ๊กแบ็กที่เคยใช้บรรจุผงคาร์บอนแบล็กที่ส่งมาจากประเทศจีนมาวางเพื่อกันการกัดเซาะชายฝั่ง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหลังจากถูกคลื่นกัดเซาะทำให้ผงคาร์บอนแบล็กออกมาปนเปื้อนบนชายหาดและน้ำทะเลจำนวนมาก โดยระบุว่า
1.ชาวบ้านที่อาศัยใกล้บริเวณชายหาดทุ่งประดู่ หมู่ 2 ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร้องเรียนว่าประสบปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะบ้านเรือนได้รับความเสียหายหลายหลัง
2.ฝ่ายปกครองของ อ.ทับสะแก ได้มีการนำทรายจากชายหาดไปบรรจุลงในถุงบิ๊กแบ็กซึ่งเป็นถุงที่เคยใช้บรรจุผงคาร์บอนแบล็กที่ส่งมาจากประเทศจีนจำนวน 1000 ถุง แล้วนำไปวางกันคลื่นอ้างว่าเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เหลือกว่า 800 เมตร ซึ่งมีได้ถูกคลื่นกัดเซาะและมีผงคาร์บอนแบล็กออกมาปนเปื้อนบนชายหาดและน้ำทะเลจำนวนมาก
3.ผงคาร์บอนด์แบล็กเป็นผลผลิตจากการกลั่นน้ำมันชนิดหนัก เมื่อนำไปผสมกับยางรถยนต์จะมีสีดำและให้คุณสมบัติที่ทนต่อแรงเสียดทานและมีความยืดหยุ่นสูง หากนำไปทิ้งหรือหมดอายุจะจัดเป็นกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายโดยมีรหัส 061303 HA และเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B ขององค์การอนามัยโลกคืออาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกําจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 ต้องนำกากของผงคาร์บอนด์แบล็กรวมทั้งภาชนะที่บรรจุไปกำจัดในโรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานเท่านั้นไม่ควรนำถุงมาใช้ใส่ทรายกันคลื่นจนแตกมีผงคาร์บอนด์แบล็กรั่วออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมดังกล่าวซึ่งถือว่าผิดกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องรีบ Clean up โดยด่วน
ด้าน นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เบื้องต้นเรื่องดังกล่าวยังทราบข้อมูลไม่มากนักแต่การแก้ปัญหาการกัดเซาะชาดฝั่ง ด้วยการนำถุงบิ๊กแบ็กมาวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะนั้นอาจไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากถุงบิ๊กแบ็กมีขนาดใหญ่และผิวเรียบซึ่งจะยิ่งทำให้คลื่นที่ซัดเข้าฝั่งมีแรงปะทมากขึ้นและอาจทำให้เกิดปัญหาหาดทรุดในเวลาต่อมา
ก่อหน้านี้ได้พบปัญหา การใช้ถุงบิ๊กแบ็กมาเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่ เช่น โรงแรมแห่งหนึ่ง ใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้ใช้บิ๊กแบ็กวางที่หน้าหาดของโรงแรมและได้เกิดปัญหาตะไคร่น้ำเกาะและลื่นจนทางโรงแรมต้องติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวห้ามเดินหรือปีนบนถุงบิ๊กแบ็ก
ขณะที่หาดในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ก็มีปัญหานี้เช่นกันที่สุดท้ายถุงบิ๊กแบ็กแตกและทำให้เกิดขยะ หรือ ในกรณีที่หมูเกาะสุรินทร์ จ.ภูเก็ต ที่ใช้กระสอบขนาดเล็กเพื่้อปัองกันการกัดเซาะแต่สุดท้ายกันการกัดเซาะไม่ได้ ถุงขาด และกลายเป็นขยะพลาสติก ขณะที่กรณีมีผงสีดำอาจจะต้องตรวจสอบว่าเป็นสารชนิดใดเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 50 ปี บางคนอาจจะไม่เคยเจอ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม มิฉะนั้นจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาและทำให้หาดทรายหายไปมากขึ้น
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่มีความพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูแลปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทุกโครงการทั่วประเทศ รวมถึงพิจารณาโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบ