นายวิชิต สังข์ทอง ชาวบ้านหินนกยูง ต.กุดผึ้ง อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู หนึ่งในทีมนักวิจัยชาวบ้าน โครงการกระบวนการขยายผลองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อทดแทนสารเคมีในไร่อ้อย ด้วยการใช้สูตรยาฆ่าหญ้าที่เป็นส่วนผสมของ น้ำยาล้างจาน น้ำส้มสายชู และสุราขาว ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างชัดเจนคือทำให้หญ้าใบเหลือง ใกล้ตาย ไม่ต่างจากการใช้สารเคมีกำจัดหญ้าในไร่อ้อยทั่วไป
ต.กุดผึ้ง มีพื้นที่ที่ปลูกอ้อยน้อยที่สุดใน 8 ตำบล ของ อ.สุวรรณคูหา แต่กลับพบว่า สวนทางกับจำนวนอัตรการป่วยที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งข้อมูลอัตราการป่วยต่อแสนประชากร การย้อนหลัง 3 ปี พบว่าปี 2560 ไม่น้อยกว่า 50 ต่อแสนประชากรปี 2561 และปี 2562 มากกว่า 85.54 ต่อแสนประชากรทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากการปนเปื้อนที่มากับน้ำ
ปริมาณการตกค้างของยาฆ่าหญ้า ในน้ำโดยเฉพาะในน้ำประปา มีสารเคมีตกค้างมากถึง 17,690 -42490 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 20ไมโครกรัมต่อลิตรทำให้นักวิชาการและเกษตรกร ร่วมกัน ค้นหาทางออก จนเป็นต้นแบบด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีในไร่อ้อย
ผลกระทบที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เกษตรกรไม่สามารถรอให้ภาครัฐกำหนดแบนหรือไม่แบนสารเคมี พวกเขาเริ่มต้นเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยการหันมาเป็นนักวิจัยทดลองดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าใส่กับจอบพรวน เป็นเครื่องทุ่นแรง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการจ้างแรงงานคน วันละ 300 บาท เป็นค่าน้ำมันไม่เกิน 100 บาท ต่อการกำจัดหญ้า 1 ไร่ และการปลูกพืชคลุมดินในไร่อ้อยยังสร้างรายได้จากผลผลิตระหว่างรอเก็บเกี่ยวอีกด้วย