สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เอมิ ฮากะ นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์นินจาชาวญี่ปุ่น วัย 19 ปี ได้นำเทคนิคของนินจาที่เรียกว่า "อาบุริดาชิ" (aburidashi) โดยใช้เวลาหลายชั่วโมงในการแช่และบดถั่วเหลืองเพื่อทำหมึก
ฮากะ ระบุว่า วิธีอาบุริดาชิ เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือในวัยเด็ก ซึ่งขณะที่ใช้วิธีดังกล่าวในการเขียนรายงาน นักศึกษาสาวหวังว่าจะไม่มีใครคิดแบบเดียวกัน โดยฮากะสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับนินจาตั้งแต่เด็กหลังได้รับชมการ์ตูนเกี่ยวกับการแอบแฝงตัวและลอบสังหารของนินจาในยุคกลางของญี่ปุ่นผ่านโทรทัศน์
หลังจากลงทะเบียนที่มหาวิทยาลัยมิเอะในประเทศญี่ปุ่น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะต้องเข้าเรียนในวิชาประวัติศาสตร์นินจาและอาจารย์ได้สั่งงานให้นักศึกษาเขียนรายงานเกี่ยวกับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นินจาของกลุ่มอิงะ ที่ชื่อว่า "อิงะริว"
เมื่ออาจารย์สั่งงานในชั้นเรียน พร้อมบอกว่าเขาจะให้คะแนนสูง สำหรับรายงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ ฉันจึงตัดสินใจว่าฉันจะทำให้บทความของฉันโดดเด่นจากคนอื่น หลังคิดสักพัก ก็มีไอเดียเกี่ยวกับวิธีอาบุริดาชิ
ฮากะ ได้แช่ถั่วเหลืองค้างคืนไว้ ก่อนจะบดถั่วเหลืองแล้วคั้นด้วยผ้า จากนั้นได้ผสมกากถั่วเหลืองกับน้ำแล้วทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้หมึกที่มีความเข้มข้น ก่อนเขียนเรียงความด้วยพู่กันบนกระดาษวาชิ เมื่อตัวอักษรบนกระดาษแห้ง ข้อความก็จะหายไปจนมองไม่เห็น แต่เพื่อให้แน่ใจว่าอาจารย์จะไม่นำเรียงความทิ้งลงถังขยะ ฮากะได้เขียนโน๊ตด้วยหมึกธรรมดาไว้ว่า "ทำให้กระดาษร้อนขึ้น"
ฉันมั่นใจว่าอย่างน้อยอาจารย์จะยอมรับในความพยายามที่จะเขียนเรียงความอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงไม่กังวลเกี่ยวกับคะแนนที่อาจจะไม่ดี แม้ว่าเนื้อหาในรายงานนั้นจะไม่มีอะไรพิเศษ
ขณะที่ ศ.ยูจิ ยามาดะ ระบุว่า รู้สึกประหลาดใจมากเมื่อเห็นรายงานฉบับนี้ แม้ก่อนหน้านี้จะเคยเห็นรายงานที่เขียนเป็นรหัสลับ แต่ไม่เคยเห็นใครเขียนรายงานด้วยวิธีอาบุริดาชิมาก่อน โดยอาจารย์ยามาดะ ยอมรับว่า มีข้อกังวลเล็กน้อยว่าข้อความบนรายงานจะออกมาไม่ชัดเจน แต่เมื่อนำกระดาษไปอุ่นบนเตาแก๊สที่บ้านก็พบว่าข้อความบนรายงานออกมาชัดเจนมากและคำว่าเป็นรายงานที่ทำได้ดีมาก
ผมไม่ลังเลที่จะให้คะแนนเต็มกับรายงานฉบับนี้ แม้ว่าผมจะไม่ได้อ่านมันจนจบ เพราะคิดว่าผมควรปล่อยให้บางส่วนของกระดาษไม่ถูกความร้อน เผื่อมีนักข่าวมาพบสิ่งนี้แล้วต้องการจะถ่ายภาพเก็บไว้