ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คอนเสิร์ตสู้มะเร็งของ "อาย กมลเนตร" วันเดียวได้หลักแสน หนุนพัฒนายาต้านฯ

Logo Thai PBS
คอนเสิร์ตสู้มะเร็งของ "อาย กมลเนตร" วันเดียวได้หลักแสน หนุนพัฒนายาต้านฯ
การสูญเสียแฟนคลับจากโรคมะเร็ง จุดประกายให้ดาราสาว "อาย กมลเนตร" ทำกิจกรรมเพื่อสู้โรคร้าย จัดคอนเสิร์ตชื่อเก๋ "โรคโดนตี" มีเพื่อนศิลปินร่วมช่วย วันเดียวได้เงินบริจาคกว่าแสนบาท หวังใช้กิจกรรมนี้เปิดประเด็น "โครงการวิจัยและพัฒนายาต้านมะเร็ง"

"เพราะเชื่อในพลังของดนตรีที่เข้าถึงใจคนได้ง่าย และช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่างๆได้กว้าง" ทำให้ดาราสาว "อาย - กมลเนตร เรืองศรี" เลือกจัดกิจกรรมใหญ่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งครั้งแรกด้วยคอนเสิร์ต ที่ตั้งชื่อแนว ๆ ว่า "โรคโดนตี" สื่อถึงโรคภัยที่โดนน้ำใจจากทุกคนช่วยกันทำลาย จัดวันเดียว 10 ตุลาคม 2562 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ได้เงินสดบริจาคลงกล่องรวม 102,509.50 บาท สมทบโครงการวิจัยและพัฒนายาต้านมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อาย กมลเนตร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของคอนเสิร์ตโรคโดนตี มาจากกิจกรรมเล็กๆเป็นดนตรีเปิดหมวก เพื่อระดมทุนให้แฟนคลับ ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ภายหลังแฟนคลับเสียชีวิต จึงคิดต่อยอดทำกิจกรรมต่อเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคนี้ ศึกษาข้อมูลจนพบโครงการวิจัยและพัฒนายาต้านมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้พัฒนายา อยู่ในเฟสที่ 2 และยังต้องการเงินสนับสนุนอยู่อีกมาก ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งไทยได้ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญเป็นราคาที่จับต้องได้

ขอบคุณทุกคนจริงๆ ที่อยากมาช่วยด้วยใจ ไม่มีใครคิดเงินอะไรเลย ปกติเราทำงานเบื้องหน้าโดนเขาบรีฟมาเพื่อให้พูดให้แสดง แต่พองานนี้เราต้องมาคิด ต้องระดมสมองแก้ปัญหา หนูรู้สึกว่ามันยาก พอวันนี้เกิดขึ้น มันเกินกว่าที่คิดไว้มาก 

ความคืบหน้าโครงการวิจัยและพัฒนายาต้านมะเร็ง

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนายาต้านมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว เริ่มต้นเฟสที่ 2 (เฟสที่ 1 เริ่มต้นในปี 2560) คือ การนำยาต้นแบบที่พัฒนาได้ทำให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น เพื่อมั่นใจว่าจะเข้าโรงงานแล้วคุ้มค่า ตอนนี้ทำมา 1 ใน 3 ของเฟสที่ 2 คิดว่าปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าอยากทำให้ยาพร้อมนำไปทดลองในสัตว์ทดลอง ว่าพัฒนาแล้วได้ผลในสัตว์ทดลอง แล้วถึงจะมั่นใจว่าเข้าสู่ขั้นตอนผลิตโรงงานในปริมาณมาก เพราะขั้นตอนนั้นใช้เงินสูงมาก อยากมั่นใจก่อน คาดว่าใช้เวลาทั้งโครงการประมาณ 5-6 ปี ถึงจะเริ่มมาทดสอบในมนุษย์ ซึ่งหากการทดลองสำเร็จเท่ากับว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาแล้ว โดยตลอดทั้งโครงการคาดว่าต้องใช้ทุนราว 1,500 ล้านบาท

นพ.ไตรรักษ์ เสริมอีกว่า ตอนนี้สถิติทั่วโลกกรณีที่รักษาวิธีปกติไม่ได้ผลจะเพิ่มโอกาสอีกประมาณ 20-30% แต่มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอดบางชนิด อาจได้ผลเพิ่มขึ้นถึง 50% ทั้งนี้ ปัจจุบันมียาต้านมะเร็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงถึง 200,000 บาท ต่อเข็ม ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องค่าใช้จ่ายรวมหลัก 10 ล้านบาท แต่หากยาต้านมะเร็งที่พัฒนาโดยคนไทยสำเร็จ จะทำให้ค่ายาลดลงเหลือเพียงเข็มละประมาณ 20,000 บาทเท่านั้น

 

คอนเสิร์ตโรคโดนตีมีเพื่อนๆและศิลปินอาสามาร่วมช่วยมากมาย ทั้ง ครูทอม คำไทย, แม็กซ์ เจนมานะ, ลิปตา, นนท์ ธนนท์, คชา นนทนันท์, อุ๋ย บุดดาเบลส, โอ๊ต ปราโมทย์, วง Three Man Down, วง Nap A Lean, ป๊อป ปองกูล, วง Playground, โดม จารุวัฒน์, เอก ซีซันไฟว์ มาจัดโชว์ชวนแฟนคลับมาร่วมกันบริจาค พร้อมกับเล่าประสบการณ์ที่หลายคนเคยมีคนใกล้ตัวป่วยโรคมะเร็ง

 

ศิลปินวง Three Man Down ให้สัมภาษณ์ว่า พอรู้ว่าโครงการนี้สามารถทำให้มะเร็งหายได้ แต่อุปสรรคคืองบประมาณ ซึ่งหากมีงบประมาณเราก็สามารถรักษามะเร็งให้คนไทยได้ แค่นี้ก็เป็นโจทย์ที่ทำให้เราไม่ต้องคิด เราอยากเข้ามาช่วยกับทุกๆคน ขณะที่นักร้องนำ "กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์" เล่าว่า สูญเสียอาม่าจากโรคมะเร็ง

 

ด้าน "อุ๋ย บุดดาเบลส" มีประสบการณ์ตรงพี่สาวป่วยเป็นโรคมะเร็ง แสดงความเห็นว่า หากยานี้คิดได้จริงๆ หากเงินพันว่าล้าน เทียบกับงบประมาณในโครงการอื่นๆก็ไม่เยอะไม่น้อย ซึ่งหากสามารถทำให้ค่ายารักษามะเร็งลดลงไป 10 เท่า จากเข็มละ 200,000 บาท เหลือ 20,000 บาท มีประโยชน์ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐ เพราะหากรัฐต้องจ่ายเงินรักษาผู้ป่วยก็จะลดลงมาได้เยอะ

ภาพ : แม็กซ์ เจนมานะ

ภาพ : แม็กซ์ เจนมานะ

ภาพ : แม็กซ์ เจนมานะ

 

ภาพ : ศิลปินวง Nap A Lean

ภาพ : ศิลปินวง Nap A Lean

ภาพ : ศิลปินวง Nap A Lean

 

 
ปัจจุบันโครงการวิจัยและพัฒนายาต้านมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังขาดเงินทุนสนับสนุนอยู่อีกจำนวนมาก สามารถร่วมสมทบบริจาคได้ที่ เลขบัญชี 408-004443-4 (ออมทรัพย์) และ 045-304669-7 (กระแสรายวัย) ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก Chulalongkorn University Systems Biology – CUSB Center

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง